นายกฯ มอบหมายให้ สศช.เร่งพิจารณามาตรการเยียวยาให้เร็วที่สุด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) สั่งการในที่ประชุมศบค.เรื่องการออกมาตรการเยียวยาว่าจะต้องดูแลทุกภาคส่วน โดยออกมาตรการที่เหมาะสม โดยมอบหมายสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด และย้ำว่าการสื่อสารต้องไม่ให้สับสน
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center, EOC) และมีคณะกรรมการต้องชี้แจงเฉพาะเรื่องตามอำนาจหน้าที่ ขณะที่ ศบค. ก็มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน จึงให้ตระหนักว่าเราทุกคนคือ “ทีมประเทศไทย” นายกฯกำชับว่าต้องแก้ไขเฟคนิวส์ให้ได้ เพราะจะเป็นการสร้างความปั่นป่วน ย้ำว่า ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ
เอกชน เห็นด้วยยกระดับมาตรการคุมโควิด แต่กังวลว่าหากเกิน 14 วัน ศก.ฟื้นยาก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง มติที่ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบล็อกดาวน์ 14 วัน และตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ รวมถึงจะต้องลดสกัดกั้นการเดินทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้ 10 ก.ค.64 เป็นต้นไปว่า ภาครัฐบาลต้องการที่จะหยุดการติดเชื้อของประชาชนให้น้อยลงให้ได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆออกมาขณะนี้ ก็เชื่อว่า โอกาสที่ประชาชนจะติดเชื้อในแต่ละวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลว โดยเฉพาะจะไม่มีเตียงให้บริการผู้ป่วยอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระบบอีกด้วย ดังนั้น คงจะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์นานแค่ไหน หากภายใน 14 วันและทุกอย่างดีขึ้นก็น่าจะส่งผลดีต่อประเทศ แต่หากระยะเวลาล็อกดาวน์นานเกินไปและไม่จบจะยิ่งทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะจะต้องดูว่ารูปแบบการล็อกดาวน์จะเหมือนกับช่วงต้นปี 63 หรือไม่ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวการล็อกดาวน์ในช่วงนั้นจะใช้เม็ดเงินเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 200,000-300,000 ล้านบาท ดังนั้น หากล็อกดาวน์ในครั้งนี้รัฐบาลจะต้องเตรียมเม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องจัดหาวัคซีนเข้ามาอย่างเพียงพอเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศสามารถฉีดวัคซีนป้องกันหมู่ให้ได้เพิ่มมากขึ้น
จัดทีมค้นหาเชิงรุกผู้ป่วยรอเตียงที่บ้าน เพิ่มเตียง รพ.สนามที่สุวรรณภูมิได้ 5,000 เตียง
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ที่ให้เร่งเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิด-19
-กระทรวงสาธารณสุขต่อสัญญาใช้สถานที่เมืองทองธานี สำหรับทำโรงพยาบาลบุษราคัมจนถึงสิ้นเดือนต.ค.64 แล้ว ทำให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยมีอาการ (สีเหลือง) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงได้ประมาณ 4,000 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดหรือในพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง เข้ามาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลรักษาประชาชนโรงพยาบาลบุษราคัม รองรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนที่รอเตียงตามบ้าน
-กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคม เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามที่ อาคาร Satellite 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,000 เตียง ในระยะแรก โดยใช้พื้นที่ชั้น 2 เป็นสถานที่ทำการของแพทย์และห้อง ICU ส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นพื้นที่สำหรับคนไข้กลุ่มสีเขียวและเหลือง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้อีกไม่นานนี้
-กรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ ประสานเครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัย จัดทีมปฏิบัติการเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อที่รอเตียงที่บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อรับตัวเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับของอาการ
-โรงพยาบาลธนบุรี ได้ขยายห้อง ICU ที่รพ.สนามราชพิพัฒน์ 1 เขตทวีวัฒนาเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับอาการสีแดง ประมาณ 40 เตียง โดยจะทยอยเปิดรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้ตั้งวันพรุ่งนี้ 10 ก.ค.64 เป็นต้นไป
-จ.สมุทรปราการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม ที่ คลังสินค้า ดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 1,200 เตียง สำหรับทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิ์
-กรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อโรงพยาบาล ( Community Isolation ) ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยตั้งเป้าหมาย 20 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,000 คน ทั้งนี้ มีการเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง คือวัดสะพาน เขตคลองเตย และศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค และเปิดเพิ่มในวันนี้อีก 1 แห่ง คือ วัดปากบ่อ เขตสวนหลวง ซึ่งจะมีทีมแพทย์จาก รพ. สิรินธร เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วยสามารถรับรองสูงสุดได้ 170 เตียง ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดให้ได้เร็วที่สุด และในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมพร้อมในการเพิ่มโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกัน
แฟ้มภาพ FB อนุทิน ชาญวีรกูล
เกาหลีใต้ ยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 กรุงโซลสู่ระดับสูงสุด
นายกรัฐมนตรีคิม บู-คยอม แห่งเกาหลีใต้ ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ในกรุงโซลและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นระดับสูงสุด ระยะเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ก.ค.64 เนื่องจาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำสถิติมากที่สุดต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยในรอบวันพฤหัสบดี 8 ก.ค.64 มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,316 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันพุธที่ 7 ก.ค. 64 จำนวน 1,275 คน ผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า จำนวนผู้ป่วยรายวันอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในสิ้นเดือนนี้
-ภายใต้มาตรการใหม่กำหนดให้ประชาชนควรอยู่บ้านให้มากที่สุด
-ปิดโรงเรียน
-จำกัดการรวมกลุ่มในที่สาธารณะหลังเวลา 18.00 น.ไว้เพียง 2 คน
-ห้ามการชุมนุมหรือกิจกรรมอื่น ๆ
-ปิดไนต์คลับและบาร์
-ร้านอาหารและคาเฟ่ จำกัดจำนวนลูกค้าในร้าน และให้บริการสั่งกลับบ้านหลังเวลา 22.00 น.
นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการเริ่มบังคับใช้มาตรการตั้งแต่ในวันจันทร์หน้า แต่นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ประชาชนงดการรวมกลุ่มในที่สาธารณะตั้งแต่วันนี้