วารสารการแพทย์แลนเซ็ต ไมโครบ (Lancet Microbe) เผยแพร่รายงานผลการวิจัย 2 ฉบับที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อของยุโรปประจำปีนี้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคจากจีน ที่มีชื่อว่าโคโรนาแวค (CoronaVac)
โดยรายงานฉบับแรกของมหาวิทยาลัยกัมปินาสในบราซิลระบุว่า วัคซีนของซิโนแวคมีประสิทธิภาพลดลงในการต้านไวรัสโควิดสายพันธุ์แกมมาที่พบครั้งแรกในบราซิล โดยนักวิจัยพบว่าแอนติบอดีที่สร้างโดยวัคซีนทำงานได้ลดลงเมื่อเทียบกับการต้านไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ สายพันธุ์แกมมายังอาจทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดและได้รับการรักษาจนหายให้กลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง ทั้งยังสามารถแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน และในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง
ในการวิจัยแอนติบอดีของผู้ที่ได้รับวัคซีน 53 คนแบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสแรก 18 คน, รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว 20 คน และอีก 15 คนได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ในการทดลองทางคลินิกของซิโนแวคเมื่อเดือนสิงหาคม 2563
นักวิจัยพบว่าแกมมาสามารถหลบหนีแอนติบอดีของผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงครั้งเดียว และผู้ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่ในปี 2563
และแอนติบอดีจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อเร็วๆ นี้มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้าของไวรัส ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่หายป่วยจากโควิดแล้วยังอาจกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการตอบสนองของภูมิคุ้มกันมีความซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้ วัคซีนของซิโนแวค ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินในเดือนมิถุนายน โดยระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 51 ในการต่อต้านโรคตามอาการและมีประสิทธิภาพเต็ม 100 ต่อการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในรายงานฉบับที่ 2 เกี่ยวกับการทดลองระยะที่ 3 ในตุรกี และมีการเผยแพร่ในวันนี้ (9 ก.ค.) พบว่าวัคซีน 2 โดสมีประสิทธิภาพร้อยละ 83.5 ในการป้องกันการติดเชื้อตามอาการ และมีประสิทธิภาพเต็ม 100 ต่อการรักษาในโรงพยาบาล
....