มาตรการคุมโควิดเข้มข้น เหมือนกับเม.ย. 63 ขณะที่ ทำเนียบ งดสื่อเข้าทำข่าว 14 วัน
รายละเอียดในการบังคับใช้มาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมที่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ จะพิจารณาในวันนี้ เป็นผลการประชุมที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก มาตรการและข้อกำหนดที่จะออกมาจะคล้ายกับเมื่อเดือนเม.ย.63 เช่น
-ขอให้ประชาชนออกจากบ้านให้น้อยที่สุดและจำเป็นจริงๆ ยกเว้น ไปซื้ออาหาร ไปหาหมอ ไปฉีดวัคซีน
-ไม่ออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นช่วงเวลา 22.00-04.00 น.
-ไม่ไปในพื้นที่ สถานที่เสี่ยง ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด
-เวิร์คฟอร์มโฮม(WFH) 100 % ยกเว้นงานบริการที่จำเป็นและงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค
-ปรับเวลาเปิด- ปิดร้านค้า กิจการต่างๆ รวมทั้ง ระบบขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกับมาตรการ เช่น ในส่วนของห้างสรรพสินค้าจะอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ด เช่นเดิม ร้านสะดวกซื้อจะมีกำหนดเวลาเปิด-ปิด
-บังคับใช้มาตรการอย่างน้อย 14 วัน ในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี ,ปทุมธานี ,สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ในส่วนของทำเนียบรัฐบาล หลังการหารือของ ศปก.ศบค.ที่เตรียมเสนอข้อกำหนดต่างๆเพื่อออกเป็นมาตรการข้อกำหนดป้องกันการแพร่ระบาด ทำเนียบรัฐบาล ได้ปรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยกระดับมาตรการเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือช่างภาพ สื่อมวลชน งดเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นเป็นเวลา 14 วัน ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซด์ ออนไลน์และสื่อต่างๆของทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ที่บ้านยกเว้นคนที่มีความจำเป็นเท่านั้น
พณ.เตรียมสินค้าจำเป็น สต๊อกสินค้าเพิ่ม รับการปรับมาตรการเข้ม
การเตรียมสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ หลังจากที่วันนี้ที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จะพิจารณามาตรการยกระดับทางสาธารณสุข และทางสังคม อย่างน้อย 14 วัน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ประสานกับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ให้จัดเรียงสินค้าสต๊อกเพิ่มในช่วงนี้ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น อาหารกระป๋อง ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อว่ามีปริมาณเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาประชาชนก็มีประสบการณ์ในการล็อกดาวน์อยู่แล้ว
นอกจากนี้ เดือนนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินโครงการรถโมบาย พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ลดค่าครองชีพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 77 จังหวัด เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าให้แก่ประชาชน
ร้องเรียน ร้านร่วมโครงการคนละครึ่งกว่า 10 ร้าน ไม่ปิดป้ายบอกราคา
กรมยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งออกตรวจสอบและติดตามร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยได้เน้นย้ำให้ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน และห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาหรือจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควรโดยเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 เกี่ยวกับโครงการละครึ่ง 13 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบตามข้อร้องเรียน หากพบการกระทำผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
-ร้านค้าใดจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร จะดำเนินคดี ตามมาตรา 29 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-ไม่ปิดป้ายแสดงราคา จำหน่าย มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ศบค.ย้ำขณะรอผลตรวจเชื้อ หรือเมื่อรู้ว่าติดเชื้อแล้ว อย่าเดินทาง
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. อธิบายกรณีการเดินทางข้ามจังหวัดว่า เน้นย้ำขอประชาชนงดเว้นการเดินทาง ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ขณะนี้มีการรายงานว่ามีบุคคลที่กำลังรอผลตรวจโควิด-19 เดินทาง จึงขอให้โรงพยาบาลที่ตรวจเชื้อเน้นย้ำด้วยว่าขณะรอผลตรวจไม่ควรเดินทาง
รวมถึงอีกกรณีหนึ่ง คือ เมื่อรู้ผลว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มีความพยายามกลับจังหวัดภูมิลำเนาเพื่อรับการรักษา อันนี้ไม่แนะนำ เพราะเมื่อติดเชื้อเป็นผู้ป่วย สาธารณสุขเห็นว่าต้องพักผ่อน พักปอด แต่ขณะเดินทางจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และยังเป็นการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นขณะเดินทางด้วย
ผู้ป่วยกลับ ตจว.ต้องแจ้งปลายทาง เมื่อถึงแล้วต้องกักตัว 100%
กรณีที่มีความจำเป็น สาธารณสุข แนะนำว่าก่อนเดินทางขอให้ติดต่อไปยังศูนย์ประสานงานรับคนกลับบ้านของจังหวัดปลายทางด้วย อาจจะเป็นโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัด หรือบุคลากรสาธารณสุข ขออย่าไปโดยถือผลว่าติดเชื้อไปเฉยๆ เพราะโรงพยาบาลปลายทางเตรียมรับไม่ทัน
มีข้อแนะนำว่าระหว่างเดินทางต้องไปโดยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดกระจกลงเพื่อระบายอากาศ ไม่เช่นนั้นอาการจะทรุดลงได้ เตรียมหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ยารักษาโรคประจำตัว เตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอ ไม่ควรแวะปั๊มน้ำมัน
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ บุคลากรสาธารณสุขของจังหวัดปลายทางจะต้องรู้ ครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติมิตร จะต้องรู้ ต้องเข้าใจว่าเมื่อเดินทางกลับไปถึงจังหวัดปลายทางแล้ว จะต้องแยกกัก ถึงแม้ว่ายังไม่มีผลยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ถือว่าเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงสีแดง สีแดงเข้ม เพราะฉะนั้นการกักตัวเป็นสิ่งที่ต้องขอให้ทุกคนทำ 100%
ร้อยเอ็ด ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนร้อยเอ็ดกลับบ้าน
การเดินทางกลับบ้านทำเชื้อแพร่กระจายมากที่สุดอยู่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่จ.ร้อยเอ็ด มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งถึง 63 คน ทำให้จังหวัด สั่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนร้อยเอ็ดกลับบ้าน โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับ ตำบล ตั้งเป็น Call center ให้ประชาชนติดต่อเพื่อเดินทางเข้ามาตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ มีติดเชื้อเพิ่มอีก 45 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็กทุกแห่งทั้งจังหวัดและมีการเตรียมตั้งโรงพยาบาล สนาม 8 แห่ง
พรุ่งนี้ ! สปส. เปิดให้ผู้ประกันตน-ปชช.ลงทะเบียนขอตรวจโควิดเริ่มตรวจ 12 ก.ค.
การเปิดศูนย์เพิ่มเติม ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป ในวันจันทร์ 12 ก.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดจุดตรวจคัดกรองให้ผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
ในวันพรุ่งนี้ 10 ก.ค. 64 สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดให้ผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เข้าสู่หน้า Google.com พิมพ์ค้นหาคำว่า “แรงงานเราสู้ด้วยกัน” คลิกที่ เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือ เลขพาสปอร์ต กด “เช็กข้อมูลระบบ” จากนั้นระบบจะให้ประเมินความเสี่ยง (ให้คลิกเลือก) ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้ ให้กรอกข้อมูลทั่วไปตามความเป็นจริง จากนั้น “กดบันทึกข้อมูล”
สำหรับผู้ประกันตน ประชาชนทั่วไป ที่ลงทะเบียนไว้แต่ไม่มารับการตรวจตามนัด จะต้องทำการลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง
ส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันที และรอรับผลการตรวจผ่านทาง SMS ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้
ขอให้ผู้ที่มาตรวจนำสำเนาบัตรประชาชนมาด้วย
ประชาชนอาจเป็นห่วงภาพคนรอการตรวจหาเชื้อ เนื่องจาก ทราบว่าคนใกล้ชิดติดโควิด-19 ศบค.เร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม
-วันที่ 12 ก.ค. 64 จะเปิดอีก 2 จุด คือ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ สนามกีฬาหัวหมาก
หากพบผู้ติดเชื้อจะนำเข้ากระบวนการรักษา แต่หากไม่ติดเชื้อ เร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากขึ้น
-จะมีการเปิดเพิ่มเติมให้ได้ 6 จุด ตามกลุ่มเขตทั่วกรุงเทพมหานครด้วย
-ขณะที่ มาตรการตรวจเชิงรุกในชุมชนยังมีอยู่
-แล็บตรวจของเอกชนที่ผ่านมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็จะเปิดให้ตรวจด้วยเช่นกัน
ต้องยอมรับว่าเมื่อเปิดจุดตรวจมากขึ้น เราก็ต้องพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น