วันนี้ ไทยจะได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าฯจากญี่ปุ่นกว่าล้านโดส
วันนี้ ประเทศไทย จะได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนกว่า 1,000,000 โดสที่ญี่ปุ่นจะส่งให้ไทย
ญี่ปุ่นส่งวัคซีนให้กับหลายประเทศในโครงการช่วยเหลือด้านวัคซีนให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-เมื่อวานนี้ได้ส่งมอบวัคซีนให้ฟิลิปปินส์จำนวน 1,000,000 โดส
-ส่งมอบวัคซีนให้เวียดนาม 1,000,000 โดส
-ก่อนหน้านี้ได้บริจาคให้อินโดนีเซียและมาเลเซีย
-ส่งมอบให้ไต้หวัน 1,100,000 โดส
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่กลางเดือนนี้ ญี่ปุ่น ยังเตรียมส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารวม 11,000,000 โดส ให้ประเทศในเอเชียใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิก ผ่านทางโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
สหรัฐฯ ยึดถือคำมั่น ความสัมพันธ์ที่ดี ส่งวัคซีนช่วยไทย
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่สารของนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เกี่ยวกับการบริจาควัคซีนของสหรัฐฯว่า ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะช่วยประเทศพันธมิตรต่อสู้กับโรคโควิด-19 และเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงมิตรไมตรีที่ยาวนาน
นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า สหรัฐฯภูมิใจที่ได้ช่วยไทยต่อสู้โรคระบาด พร้อมทั้งขอชื่นชมความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขของไทยที่ทำงานเพื่อควบคุมการระบาด ขอเน้นย้ำว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีคนกลางในการเจรจา ทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และสถานทูตฯ ทำงานโดยตรงกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขไทยในการบริจาควัคซีนครั้งนี้ เรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หวังว่าจะมีข่าวดีแจ้งให้ทราบในเร็ววันนี้ ชาวอเมริกันจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวไทยตลอดไป
เมียนมา คุมเข้มย่างกุ้ง ให้คนอยู่บ้าน ยอดติดเชื้อพุ่งเป็นหลักพัน
เริ่มบังคับใช้แล้วและยังไม่ระบุวันสิ้นสุด ทางการเมียนมา ตัดสินใจยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 ด้วยการประกาศคำสั่งให้ประชาชนในนครย่างกุ้งที่มีอยู่ราว 7,000,000 คน เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านพัก หลังยอดติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศทำสถิติสูงสุดในรอบหลายเดือน ยอดติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 4,000 คน
เปรียบเทียบกับเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. 64 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึงวันละ 50 คนเท่านั้น
คำสั่งดังกล่าวจะอนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านพักได้เพียง 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว ด้วยเหตุผลจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้จะมีข้อยกเว้นกับกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่จำเป็นต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่
หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเมียนมา ไม่สามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการทำรัฐประหารแล้ว เนื่องจาก ขาดความพร้อมหลายด้าน แต่สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงหลังมีการทำรัฐประหาร จนบุคลากรทางการแพทย์ต้องหยุดงานร่วมประท้วงด้วย
เมื่อปีที่แล้วเมียนมามีการประกาศล็อกดาวน์บางส่วน แต่ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เพราะยังต้องออกมาทำมาหากิน
ล่าสุด มีชาวเมียนมาราว 1,750,000 คน จากประชากรทั้งหมด 54,000,000 คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทางการเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมทั้งจากรัสเซียและจีน มีรายงานว่าเมียนมากำลังจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มอีก 2,000,000 โดส ในเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่มีการระบุว่าเป็นวัคซีนของค่ายใด
ชาวอินโดฯ แห่ไปซื้อยาฆ่าพยาธิ ‘ไอเวอร์เม็กทิน’ เชื่อว่ารักษาโควิด-19 ได้
ชาวอินโดนีเซีย พากันแห่ไปซื้อยาไอเวอร์เม็กทิน ซึ่งเป็นยาฆ่าพยาธิ โดยไม่สนคำเตือนจากหน่วยงานสาธารณสุข หลังจากที่นักการเมืองชั้นนำและผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดียของอินโดนีเซีย สนับสนุนการใช้ยาดังกล่าวท่ามกลางสถานการณ์ระบาดรุนแรงทั่วประเทศ
ยาไอเวอร์เม็กทิน กำลังขาดตลาดร้านขายยาในอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลในโลกโซเชียลเกี่ยวกับสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้
หัวหน้ากลุ่มร้านขายยาที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา เปิดเผยว่า ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากเดินเข้าร้านขายยาพร้อมแสดงภาพบนหน้าจอโทรศัพท์ที่ระบุว่า ยาไอเวอร์เม็กทิน อาจรักษาโรคโควิด-19 ได้ และยังระบุเพิ่มเติมว่า ยาดังกล่าวมีราคาพุ่งสูงขึ้นจาก 175,000 รูเปียห์ (390 บาท) เป็น 300,000 รูเปียห์ (700 บาท) เนื่องจากขาดแคลนในท้องตลาด
ขณะที่หญิงสูงวัยชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ย่านชานเมืองกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า เธอซื้อยาไอเวอร์เม็กทินไปให้ญาติที่ติดเชื้อโควิด-19 เพราะเห็นข้อความในสื่อโซเชียลมีเดียที่อ้างว่ายาดังกล่าวรักษาโรคโควิด-19 ได้ แต่ก็ยอมรับว่าได้ยินเรื่องเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ยังไม่ทราบแน่ชัด
อย่างไรก็ดี เมิร์ก บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ยังไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองผลการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาไอเวอร์เม็กทิน พร้อมทั้งเตือนอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายราย องค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานกำกับดูแลยาหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานของอินโดนีเซีย เน้นย้ำว่า ยังไม่มีหลักฐานว่ายาไอเวอร์เม็กทิน ใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ได้
ขณะนี้ อินโดนีเซียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 2,370,000 คน เสียชีวิตกว่า 62,900 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สรุปแล้ว! โตเกียวโอลิมปิก จัดแข่งขันแบบไม่มีผู้ชมในสนาม
คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ญี่ปุ่น ตัดสินใจที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าร่วมชมการแข่งขันในสถานที่จัดการแข่งขัน หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้น หลังการประชุมที่มีนายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก, คณะกรรมการจัดการแข่งขันพาราลิมปิก รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ของทางการกรุงโตเกียว
นอกจากการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงโตเกียวจะไร้คนดูแล้ว การแข่งขันที่มีกำหนดจัดขึ้นในจังหวัดชิบะ คานางาวะ และไซตามะ ก็จะไม่มีผู้ชมเช่นกัน
รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวเป็นครั้งที่ 4 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ค.-22 ส.ค.64 โดยจะครอบคลุมถึงช่วงเวลาจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 ก.ค.จนถึงวันที่ 8 ส.ค.64
ยูฟ่า เตรียมลงโทษอังกฤษ กรณีแฟนบอล ส่องเลเซอร์ รอบรองชนะเลิศบอลยูโร 2020
สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เตรียมลงโทษอังกฤษ กรณีแฟนบอลทำตุกติก ยิงเลเซอร์ใส่บริเวณใบหน้าของแคสเปอร์ ชไมเคิล ประตูทีมชาติเดนมาร์ก เพื่อก่อกวนให้เสียสมาธิ ระหว่างการรับลูกจุดโทษของแฮร์รี่ เคน กองหน้าสิงโตคำราม ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ศึกยูโร 2020 รอบรองชนะเลิศ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 ซึ่งสุดท้าย แคสเปอร์ พุ่งปัดได้ แต่เคนก็ซ้ำเข้าไป เป็นประตูชัยให้อังกฤษชนะ 2-1 ผ่านเข้าชิงชนะเลิศในที่สุด
ยูฟ่า ออกแถลงการณ์ว่า คณะกรรมการฝ่ายบังคับกฎ จริยธรรม และวินัยของยูฟ่า จะพิจารณาลงโทษในเรื่องนี้ รวมถึงกรณีที่มีแฟนบอลเจ้าถิ่นบางส่วนโห่ขณะทีมชาติเดนมาร์กกำลังร้องเพลงชาติ และจุดพลุไฟระหว่างเกมด้วย
ก่อนหน้านี้ โฆษกของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ตำหนิแฟนบอลชาวอังกฤษกรณีโห่ขณะกำลังบรรเลงเพลงชาติเดนมาร์กว่า ไม่ต้องการให้แฟนๆ โห่ ทีมอื่น อยากเห็นการสนับสนุนและเคารพซึ่งกันและกัน
ขณะที่ สื่ออังกฤษ ระบุว่า สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ให้ความร่วมมือกับยูฟ่าในการหาตัวแฟนบอลที่ฉายแสงเลเซอร์ใส่แคสเปอร์มาลงโทษ แต่ไม่เจอตัวผู้รับผิดชอบเรื่องนี้