ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564

08 กรกฎาคม 2564, 13:58น.


รอผลประชุม ศบค.ชุดใหญ่พรุ่งนี้ ! ร้าน-กิจการ-ระบบขนส่ง ปรับเวลาปิด-เปิด คุมโควิด-19  



          พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.ย้ำว่า มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอไม่มีคำว่าล็อกดาวน์ เป็นการปรับมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้ง มาตรการทางสังคม ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอฟังผลการประชุมจากที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ ผอ.ศบค. ในวันพรุ่งนี้ก่อน   



          มาตรการที่ปรับจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อจำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ออกนอกบ้าน ห้ามการเคลื่อนย้าย มีการประสานงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ที่จะมีการตั้งด่านตรวจ พร้อมทั้งขอให้ทำงานที่บ้านมากขึ้น



         กำหนดให้ประชาชนร่วมมือเปิด-ปิด กิจการ สถานที่ที่มีการพูดถึง เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือกิจการประเภทเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ข้าวต้มรอบดึก



         รวมทั้งการปรับเวลาการขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกับมาตรการด้วย  



         ขณะที่ ร้านค้าต่างๆ ที่มีความจำเป็นยังต้องเปิดต่อไป เช่น ร้านเครื่องมือ อุปกรณ์ช่าง



         พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ผ่านระบบ Video Conference เพื่อประเมินสถานการณ์



‘หมอนิธิ’ เผย ปลายอาทิตย์หน้าจะจัดสรร “ซิโนฟาร์ม” ให้รายบุคคลเน้นพท.สีแดงก่อน



           ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda เรื่องการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับรายบุคคล บุคคลธรรมดาว่าจะเปิดให้เริ่มยื่นความจำนงค์ ในปลายๆอาทิตย์หน้า แต่จะใช้วิธีให้เฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสีแดงก่อน และจะต้องขอเปิดเป็นช่วงๆ เช่น ครั้ง 1-20,000 คน เมื่อเต็มแล้วปิด เป็นช่วงๆเพื่อจัดการระบบให้เรียบร้อยเป็นชุดๆ  และในวันนี้ตอนบ่ายๆ จะประชุมหารือกับโรงพยาบาลที่จะรับฉีดเพื่อแน่ใจในระบบบริการและทุกโรงพยาบาลต้องพร้อมเต็มใจช่วยเพิ่มงานในส่วนนี้ด้วยกัน



          สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายบุคคล อาจจะมีข่าวดีเพิ่มเติมเพราะทาง ซิโนฟาร์มและบริษัทโลจิสติก กำลังเจรจาต่อรองลดราคาวัคซีนกันอยู่



         ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ได้ดูปริมาณวัคซีนซิโนฟาร์มที่มาแล้วและที่ได้จัดสรรไปแล้ว และที่จะมาอีกในวันที่ 18 ก.ค.64 และวันที่  25 ก.ค. 64 จึงได้ดำเนินการดังนี้



1.จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มให้ทุกนิติบุคคลที่แจ้งความประสงค์มาในชุดแรก วันนี้และวันพรุ่งนี้ ทีมงานจะทยอยส่งอีเมล์ยืนยันกลับไป ถ้าสิ้นวันศุกร์ที่ 9 ก.ค.64 เวลา 23.59 น.หากใครยังไม่ได้รับการติดต่อช่วยแจ้งกลับมาด้วย เฉพาะบริษัทที่ยื่นความจำนงมาไว้เท่านั้น และโปรดอย่าโทรหรือติดต่อมาก่อน



2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดกลุ่มลำดับความสำคัญมาแล้วพร้อมเอกสารรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด จะเริ่มจัดสรรให้กับกลุ่มตามลำดับเหมือนกับนิติบุคคล กลุ่มแรกๆ จะเป็นกลุ่มการศึกษา กลุ่มสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ และจะขอจัดให้พระสงฆ์และนักบวชในพื้นที่ตามที่บริจาคให้ไว้ร้อยละสิบ กลุ่มอื่นๆรอรอบต่อๆไป



          ศ.นพ.นิธิ ขอแนะนำว่าตอนนี้ให้รีบติดต่อสถานพยาบาลที่จะรับฉีดไว้เลย และสถานพยาบาลนั้นต้องใช้ระบบของราชวิทยาลัยหรือของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น(ไม่ให้ใช้ระบบตัวเองหรือกระดาษ)ในการเก็บลงทะเบียน และส่งรายชื่อ ข้อมูลพื้นฐานบุคคลของทุกคนที่จะจัดสรรให้ ต้องลงนามให้ความยินยอมในระบบของราชวิทยาลัยเท่านั้น



          ท้ายที่สุดขอขอบคุณทัวร์เมื่อวานอีกครั้ง ขอบคุณทุกคำแนะนำ ชี้แนะ กำลังใจ คำติ คำชม และอารมณ์ความรู้สึกที่มี เพราะการมาของทุกคนได้ช่วยเสริมสติปัญญาให้ได้ช่วยจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มต่างๆได้



ผู้ติดเชื้อ มากกว่าครึ่งในสหรัฐฯ เจอสายพันธุ์เดลตา พท.ฉีดวัคซีนต่ำเจอติดเชื้อมาก



           ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อในประเทศคือประมาณร้อยละ 51.7 หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นชนิดสายพันธุ์อัลฟา มานานหลายเดือน แต่ในปัจจุบันสายพันธุ์อัลฟามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 28.7 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด



          นพ.แอนโทนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ กล่าวเตือนว่า สายพันธุ์เดลตาเป็นภัยคุกคามที่สำคัญเพราะแพร่เชื้อได้ง่ายและทำให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยชี้ว่าพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงคือพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ



          นพ.วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ศาสตราจารย์ประจำแผนกโรคติดเชื้อที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ กล่าวว่า การที่มีผู้ยังไม่ได้รับวัคซีนมากเท่าใดจะหมายถึงการเพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดมากขึ้นเท่านั้น และหมายถึงการกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่าเดิม



          ในรายงานของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า รัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงในรายงานกว่าค่าเฉลี่ย และเนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงแต่ยังไม่สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจำนวนมากจึงย้ำเตือนให้คงมาตรการสวมหน้ากากอนามัยแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม



องค์การอนามัยโลก ตำหนิ ‘ลัทธิชาตินิยมวัคซีน' ขัดขวางความพยายามควบคุมโควิด



          นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ‘ลัทธิชาตินิยมวัคซีน’ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการแบ่งปันวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกหลายล้านคนทั่วโลกยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน



          นพ.ทีโดรส กล่าวด้วยว่า จำนวนผู้เสียชีวิต 4 ล้านคนทั่วโลกที่มีการบันทึกไว้นั้นเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง เนื่องจากเป็นการบันทึกเฉพาะผู้เสียชีวิตภายใต้ระบบการรักษาพยาบาลที่มีการตรวจสอบยืนยันเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ทั้งมีการการผลิตและการจำหน่ายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้การทำงานเพื่อกอบกู้สถานการณ์ทำให้ยากขึ้น ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการประเทศที่ร่ำรวยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากกว่าประเทศที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดการรวมกลุ่มแบ่งฝ่ายกลายเป็น ‘ลัทธิชาตินิยมวัคซีน’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโควิด-19 ที่กำลังกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการติดเชื้อ ที่สำคัญคือยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ดูแลหลายล้านคนในประเทศยากจนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ



          ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้ชี้ไปที่การประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี20 ที่จะมีขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ ว่าเป็นโอกาสำคัญสำหรับผู้นำในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการระบาดใหญ่ มีการขยายการผลิตและการจัดจำหน่ายวัคซีนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเขากล่าวว่า ประชากรร้อยละ 10 ของทุกประเทศควรได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือนกันยายน และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้ภายในกลางปี 2565 ทุกประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนที่ระดับร้อยละ 70 ของประชากรในทุกประเทศ

ข่าวทั้งหมด

X