กมส.แนะ มอง 2 ด้าน ย้ายโรงงาน พ้นชุมชน

07 กรกฎาคม 2564, 22:05น.


          การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ นายฤทธิ์ณรงค์ ศรีบัว หัวหน้าสำนักปลัด อบต.บางพลีใหญ่ เปิดเผยว่า ในช่วงแรกยอมรับเรื่องความขลุกขลักอยู่บ้างเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณต้องทำตามระเบียบราชการ ซึ่งต้องรอขั้นตอนการเดินเอกสาร แต่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัด (ปภ.จังหวัด) รวมถึงได้รับการบริจาคอาหารและน้ำดื่มจำนวนมากจากมูลนิธิและประชาชนที่ได้รับทราบข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ผู้อพยพทุกคนที่เราให้ลงชื่อไว้ ในศูนย์เราก็จะมีรับลงขอความช่วยเหลือด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับลงความช่วยเหลือก็จะมีทั้งประชาชนที่อยู่ในเขตของเรา แล้วทางอบต.ราชาเทวะด้วย ได้ลงเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งเราก็คงจะต้องลงพื้นที่ด้วยหลังจากเข้าไปได้แล้ว รวมทั้งยังได้สำนักงานอัยการ มาบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้กับผู้ประสบภัยฟังว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง



          ด้าน น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีโรงงานหมิงตี้ฯ ซึ่งก่อตั้งมาก่อนที่ชุมชนจะขยายเข้ามาใกล้ ว่า จริงๆ มีหลายพื้นที่ที่มีโรงงานตั้งมาก่อนจะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกฎหมายผังเมืองนั้นยังไม่ค่อยถูกบังคับใช้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำผังเมืองเฉพาะได้ แต่ท้องถิ่นก็ต้องสามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ว่าไม่ควรมีชุมชนไปเกิดขึ้นใกล้โรงงาน



          ถึงกระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าศักยภาพของท้องถิ่น ในที่นี้คือ อบต. ยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะในแง่บุคลากร เช่น อบต. ได้รับการถ่ายโอนอำนาจด้านสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ อบต. ไม่มีบุคลากรสาธารณสุขซึ่งเชี่ยวชาญประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ อาทิ การตรวจสอบมลพิษ เพราะโรงงานต้องทำรายงานประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย แต่โดยส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐยังไม่กำกับในเรื่องนี้ โดยต้องเสริมศักยภาพของ อบต. ให้สามารถกำกับและติดตาม



         หลังจากนี้คงจะต้องมีการหารือในระดับนโยบายว่า โรงงานลักษณะนี้ที่ตั้งมาก่อนมีกฎหมายบังคับใช้จะต้องทำอย่างไร ควรย้ายออกหรือไม่ หรือหากไม่สามารถย้ายได้ก็ต้องมีมาตรการติดตามที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงเปิดเผยการใช้สารเคมีในโรงงานที่ทุกคนมีส่วนร่วมรับรู้ ดังที่เห็นจากโรงงานหลายแห่งที่ติดตั้งระบบตรวจวัดและแสดงผลปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ให้ผู้ที่ผ่านไป-มาบริเวณโรงงานได้เห็น ซึ่งเป็นนโยบายของกรมควบคุมมลพิษ ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอจากผู้สนใจประเด็นด้านผังเมืองว่าควรมีมาตรการจูงใจให้โรงงานที่เสี่ยงอันตรายย้ายออกจากชุมชนไปเข้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด เรื่องนี้ยอมรับว่า ทำจริงได้ยาก รัฐบาลหาเงินชดเชย และตัวผู้ประกอบการ อาจจะคัดค้าน เพราะที่ตั้งเดิมโลจิสติกส์ดี ดังนั้นจะต้องมองทั้ง 2 ด้าน

ข่าวทั้งหมด

X