ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564

07 กรกฎาคม 2564, 07:49น.


ครม.อนุมัติซื้อวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาเพิ่ม



          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 20 ล้านโดส โมเดอร์นา 5-9 ล้านโดส เร่งนำเข้าตุลาคมนี้ และซิโนแวคอีก 10,900,000 โดส เน้นป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์เบื้องต้น 20 ล้านโดส โดยมอบให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในสัญญา และเห็นชอบข้อตกลงกับทางสหรัฐอเมริกาที่จะมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้กับประเทศไทยเพิ่มเติม



          นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดหาและลงนามจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 5-9 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ต่างจากยี่ห้อไฟเซอร์ที่เป็นวัคซีนหลักที่รัฐต้องจัดหาและฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 10,900,000 โดส โดยจะจัดหาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่นและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สูงกว่าควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน ตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในส่วนที่เหลือเพื่อให้จัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ครบ 150 ล้านโดส ภายในไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของปี 2565



          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข คาดว่าจะได้รับวัคซีนล็อตแรกภายในไตรมาส 4 ของปีนี้



นายกฯเพิ่มเวลากักตัว



          ส่วนกรณีที่นายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ขอถ่ายเซลฟี่กับนายกรัฐมนตรีในการเดินทางไปร่วมเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีผลตรวจเป็นลบอยู่ระหว่างการกักตัวเองและเฝ้าระวังอาการ จึงต้องประชุมครม.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์



          เดิมนายกรัฐมนตรี จะกักตัวเองเป็นเวลา 7 วัน ตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขเนื่องจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อเป็นเวลานาน แต่มีความกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดความสับสนไม่เข้าใจ จึงกักตัวเป็นเวลา 14 วัน



หมอยง เผยสิ้นเดือนนี้รู้กันฉีดวัคซีน 2 เข็มสลับยี่ห้อ



          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ในหัวข้อ “โควิด-19 วัคซีน การฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 สลับชนิดกัน” โดยระบุว่า ปัจจุบันยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน covid-19 เข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นชนิดเดียวกัน ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้ม มีข้อมูล และกำลังศึกษาเกี่ยวกับการฉีดต่างชนิดของวัคซีนใน เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เช่นการให้ virus vector (AstraZeneca) สลับกับ mRNA (Pfizer) และเริ่มมีการยอมรับมากขึ้น



          สำหรับประเทศไทยขณะนี้เรามีวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac, sinopharm) กับ virus vector (AstraZeneca) และในชีวิตจริง ในบางรายที่แพ้วัคซีนเข็มแรก วัคซีนเข็ม 2 ให้ต่างชนิดกัน ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอสมควร เข้าใจว่ามีมากกว่า 1,000 ราย การศึกษาของศูนย์ ได้ทำการศึกษาการสลับชนิดของวัคซีน ที่อยู่ระหว่างการศึกษา พบว่าการให้เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) และอีก 3-4 สัปดาห์ต่อมา ให้วัคซีน virus vector (AstraZeneca) ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ได้ปริมาณที่สูงมาก สูงกว่าการให้วัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ประมาณ 8 เท่า หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อจริงในผู้ป่วยประมาณ 10 เท่า และน้อยกว่าการให้วัคซีน virus vector AstraZeneca 2 ครั้งห่างกัน 10 สัปดาห์ อยู่เพียงเล็กน้อย



          การให้วัคซีนสลับ เข็มแรกเชื้อตาย เข็มที่ 2 เป็นไวรัสเวกเตอร์ (ห่างกัน 3-4 สัปดาห์) จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานสูงในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งต่างกับผู้ที่ได้รับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ 2 ครั้ง (ห่างกัน 10 สัปดาห์) กว่าจะได้ภูมิต้านทานสูงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 - 14 สัปดาห์



          ข้อมูลนี้จึงเป็นประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาดอย่างมาก และทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันการบริหารวัคซีนก็จะง่ายขึ้น ในกรณีที่มีวัคซีน ในปริมาณจำกัด การศึกษาทั้งหมดน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้



อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้ยังเป็นข้อมูลที่ศึกษาระดับภูมิต้านทาน สิ่งที่สำคัญจะต้องทำการศึกษาต่อ คือความสามารถในการป้องกันโรค ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่ามีโอกาสที่จะป้องกันโรคและความรุนแรงของโรคได้มากกว่า การศึกษาในวงกว้างก็ยังมีความจำเป็นที่จะให้ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคถ้าให้วัคซีนสลับกัน



เตรียมเปิดคลังสินค้าเป็นรพ.สนาม



          นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมกับ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เตรียมเปิดพื้นที่อาคารคลังสินค้า 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว หรือผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ซึ่งพื้นที่อาคารคลังสินค้า 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง มีประมาณ 16,000-18,000 ตารางเมตร รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 2,000 เตียง หลังเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดวางระบบสาธารณูปโภคแล้วคาดว่า พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม



ชลบุรีมีผู้ป่วยเพิ่ม 262 คน เสียชีวิต 3 ราย 



          สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 262 คน เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่มาจาก



1.ตรวจเชิงรุก Cluster แคมป์ก่อสร้าง บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) อำเภอบางละมุง 21 คน



2.บุคลากรทางการแพทย์ 5 คน



3.อาชีพเสี่ยงพบปะผู้คนจำนวนมาก 2 คน



4.ตรวจเชิงรุก Cluster โรงน้ำแข็งภูพาน ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง 1 คน



5.สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (ร่วมวงสังสรรค์) 1 คน



6.สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ต่างจังหวัด



     6.1 กทม. 1 คน



     6.2 จังหวัดนครปฐม 1 คน



7.สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน



     7.1 ในครอบครัว 92 คน



     7.2 จากสถานที่ทำงาน 31 คน



8.สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนโรค) 45 คน



9.อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 62 คน



          มีการค้นหาผู้สัมผัสทั้งหมดจำนวน 561 ราย, ค้นหาเชิงรุกเบื้องต้น จำนวน 1,402 ราย, และอยู่ระหว่างการรอรับรายงานการค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติม ขณะนี้มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ในสถานประกอบการ 9 แห่งและตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 3 แห่ง 



...

ข่าวทั้งหมด

X