การระบาดโควิด-19 ภายในประเทศไทย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นระลอก 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นระลอกใหม่
ผู้ติดเชื้อตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นระลอก 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไหร่ เมื่อยกระดับมาตรการแล้วแต่ยังไม่สูงสุด ขณะนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์กว่าจะเห็นผล 14 วันตามระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะครบช่วงวันที่ 11-12 ก.ค.และจะประเมินว่าเป็นอย่างไร หากไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ ต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000คนต่อวัน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม ยอมรับว่า ขณะนี้บอกตรงๆ ว่า สู้ไม่ไหว ต้องช่วยกัน คือเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ ส่วนการจะเพิ่มเติมมาตรการจะประเมินในช่วง 15 วัน และ 30 วัน เชื่อว่า การติดเชื้ออาจจะลงบ้าง แต่อาจยังอยู่ในระดับ 3-4 พัน ก็ยังเกินที่จะรับไหว
สิ่งสำคัญต้องลดการเคลื่อนย้ายของคน เพราะเชื้อโรคไปเองไม่ได้ ต้องไปกับคน คนพาไป ถึงไม่ อยากให้เคลื่อนย้าย ให้อยู่กับบ้าน ต้อง Work From Home 75% ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ถึง 50% ต้องไม่ไปตลาด ศูนย์การค้า แต่คนยังไปกันมาก ยังออกต่างจังหวัด ตรงนี้ต้องช่วยกัน ไม่นำเชื้อไปแพร่คนอื่น ถ้ายังทำไม่ได้ ไม่มีทางอื่น ต้องยกระดับมาตรการต้องล็อกดาวน์เหมือนเม.ย. 2563 ที่ระบาดไม่กี่ร้อยคนทำแล้วคุมอยู่ ซึ่งขณะนี้ช้าไปหน่อยแล้ว หลังจากให้เวลา 2-3 เดือนยังคุมไม่ได้
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนที่ต้องช่วยกัน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ยกระดับสูงสุด ต้องคิดว่าคนที่ไปเจอทั้งคนในครอบครัวที่บ้าน ซึ่งบางส่วนออกไปทำงาน เสมือนเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและอาจติดได้ และเราอาจไปแพร่เชื้อต่อ ต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล องค์กร และมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเดินทางและใช้ Work From Home ตัวเลขถึงจะควบคุมได้
สิ่งสำคัญที่สุด และคิดว่ายอมเจ็บให้สั้นๆ แล้วจบ ผมพูดในที่ประชุมว่า ถ้าเราไม่ยอมเจ็บ แต่โรคระบาดยังอยู่ถามว่าแล้วเศรษฐกิจเดินได้หรือไม่ ก็เดินไม่ได้ ไม่มีทางเดินได้อยู่ดี คนยังป่วยมหาศาล กำลังบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ เตียงก็ไม่เพียงพอ มีคนตายวันละ 50-60 คนทุกวัน จะขึ้นไปเป็นวันละ 100 คน เจ็บด้วย จนด้วย ตายด้วย ผมเลือกอันแรกให้มันเจ็บสั้นๆ