หลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยุติการพิจารณายกร่างรายมาตราไปกว่าสามวันและกลับมาพิจารณาต่อในวันนี้พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการสามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐธรรมนูญทั้งหมดคือ 132 มาตรา ส่วนวันนี้เป็นการพิจารณาในหมวดที่ 7 ว่าด้วยการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยยังยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้ประกอบการพิจารณา แต่มีการปรับใช้คำที่ครอบคลุมและสร้างบรรยากาศที่ดีมากขึ้น เช่น บัญญัติคำว่า การบริหารท้องถิ่นแทนการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความชัดเจนในการนิยามและตีความ รวมทั้งไม่ให้เกิดความรู้สึกการแบ่งการปกครองของประชาชนและผู้บริหารด้วย และจะเพิ่มบทบาทของท้องถิ่นตามกฎหมายให้มีอำนาจมากขึ้น ซึ่งคาดว่าการพิจารณาในหมวดนี้จะแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ โดยจะมีทั้งสิ้น 6 มาตราและจะเน้นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งบัญญัติให้องค์กรบริหารท้องถิ่นมีสิทธิในการจัดทำบริการสาธารณะตามความต้องการของประชาชนตามความสามารถ และจะบัญญัติให้มีรูปแบบองค์ดรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลายตามแต่ละสภาพพื้นที่ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจและให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาของตัวเองมากขึ้น ส่วนสัปดาห์หน้าจะเริ่มพิจารณาในหมวดว่าด้วยการปฎิรูปและการสร้างความปรองดอง ก่อนที่จะมีการลงพื้นที่ในจ.ชลบุรีช่วงระหว่างวันที่ 23-28 กุมภาพันธ์ 2558
หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้จัดเสวนาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ว่าด้วยเรื่อง หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมืองและสถาบันการเมือง โดยจะเชิญกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กปปส. นปช. และพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรคเข้าให้ความเห็นต่อที่มาของคณะรัฐมนตรี และระบบรัฐสภาในวันดังกล่าว โดยเบื้องต้นจะยึดร่างรัฐธรรมนูญแรกที่ร่างไว้มาเป็นกรอบในการเสวนาก่อน แต่ยืนยันว่าหากกลุ่มหรือพรรคการเมืองใดมีแนวคิดที่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงที่มาของระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีก็ย่อมทำได้อยู่ตลอด โดยความเห็นที่ได้จะนำไปสรุปเพื่อเตรียมยกร่างรายมาตราถึงที่มาของนายกฯ คณะรัฐมนตรีและระบบรัฐสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคมต่อไป โดยขณะนี้กำลังจัดเตรียมหนังสือเชิญไปยังพรรคการเมืองต่างๆ
ส่วนการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะมีกฎหมาย 3-4 ฉบับจาก 11 ฉบับที่ต้องออกก่อนเพื่อไว้ประกาศใช้เลือกตั้ง เช่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น โดยร่าง3-4 ฉบับนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะร่างรอไว้ก่อน เพื่อป้องกันความล่าช้าและเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็จะนำเสนอผ่านสนช.และคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบทันทีก่อนที่จะทูลเกล้าฯในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายรับรองการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 ต่อไป
ขณะที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ที่มีนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสวนป่า ฉบับที่ พ.ศ. ในวาระที่ 2-3 ซึ่ง ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 185 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออ