*บวรศักดิ์ ย้ำทำประชามติ ร่างรธน. เตรียมให้นานาชาติฟังยกร่างรายมาตรา*

04 กุมภาพันธ์ 2558, 19:04น.


หลังการประชุมแม่น้ำ 5 สาย  นาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานได้ชี้แจงหน่วยงานละ 20 นาที และเปิดโอกาสให้มีการซักถามข้อสงสัย ซึ่งในส่วนของการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการซักถามอย่างละเอียด ทั้งนี้ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการทำประชามติ แต่โดยส่วนตัวยังยืนยันเช่นเดิมว่าควรมีการทำประชามติ  ส่วนของสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ  สปช. ได้ตกลงกันว่าจะทำตามโรดแม็ปที่มองไปข้างหน้า 20 ปี เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งและยั่งยืน โดยมีหัวข้อในการปฏิรูป36 เรื่องที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและอีก 7 วาระในการพัฒนา ส่วนการทำงานต่อจากนี้จะมีการประสานกันระหว่างแม่น้ำ 5 สาย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงานที่สุด



นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูเรื่องความขัดแย้งว่าจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งยุติลงภายหลังการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้ ขณะเดียวกันได้ทำความเข้าใจกับต่างประเทศ โดยได้ทำหนังสือเชิญทูตประเทศต่างๆ เช่น อียู ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เข้ารับฟังการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวมถึงการลงพื้นที่เวทีรับฟังความเห็น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ทั้งนี้เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ก็จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ให้ประเทศต่างๆรับทราบด้วย ยืนยันว่า ยังเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายจนถึงวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเรื่องที่ผ่านการพิจารณาแล้วยังสามารถนำมาพิจารณาได้อีก  รวมถึงกรณีการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ซึ่งมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่พร้อมจะรับฟัง



ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การรายงานความคืบหน้าขององค์การต่างๆถือว่าได้ผลน่าพอใจ แม้ยังมีปัญหาเรื่องการประสานงาน เพราะในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมนี้ ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ควรว่างเว้นกระบวนการรับฟังความเห็นและอยากให้มีผลงานการปฏิรูป ส่วนนายกรัฐมนตรีไม่ห่วงว่าการยกร่างรัฐธรรมูญจะสะดุด ขณะที่ร่างรัฐธรมนูญร่างแรกจะเสร็จก่อนวันที่ 17เมษายนนี้แน่นอน โดยประธานสนช.และรองประธานสนช.ยังย้ำว่าแม้รัฐธรรมนูญไม่ระบุว่าต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สนช.ให้ความเห็น แต่ก็ขอให้มีวิธีการใดที่จะให้ สนช.ให้ความเห็นได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับไปพิจารณา ส่วนการทำประชามติในที่ประชุมยังไม่มีการหารือ แต่ที่ประชุมเน้นย้ำถึงการติดตามงานทั่วไปว่าทุกฝ่ายต้องเดินหน้า โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต้องให้ประชาชนรับรู้การทำงานเพราะเป็นเรื่องสำคัญ



ข่าวทั้งหมด

X