ดีเดย์ฉีดซิโนฟาร์ม 25 มิ.ย.นี้!ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ย้ำห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้รับวัคซีน

11 มิถุนายน 2564, 15:39น.


          ในวันนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ประชุมร่วมกับสถานพยาบาลถึงการขึ้นทะเบียนเป็นสถานให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี จัดหาวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ขอบคุณโรงพยาบาลทั่วประเทศที่เข้ามาเป็นกำลังหลักในการฉีดวัคซีนตัวเลือก คาดว่า วัคซีนล็อตแรก จำนวน 1 ล้านโดส จะมาถึงไทยวันที่ 20 มิ.ย. ใช้เวลาตรวจสอบคุณภาพ 2 วัน จากนั้นเริ่มกระจายวันที่ 23-24 มิ.ย. และกำหนดดีเดย์ให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพร้อมกันวันที่ 25 มิ.ย. หลังจากนั้น จะมีวัคซีนทยอยเข้าประเทศไทยทุกๆ 10 วัน



          สำหรับหลักเกณฑ์การบริหารจัดการ ให้หน่วยงานแสดงความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนกับราชวิทยาลัยผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 14 มิ.ย. หน่วยงาน ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค. กำหนดราคาวัคซีนเข็มละ 888 บาท ไม่เก็บเพิ่มจากผู้รับวัคซีน หน่วยงานบริจาควัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ขอรับจัดสรรจากราชวิทยาลัย เราจะจัดสรรโดยให้หน่วยงานที่ขอรับไปดำเนินการ โดยให้รายงานหลังบริการให้กับผู้ด้อยโอกาสตามจำนวนร้อยละ 10  หากมีวัคซีนมากเกินความต้องการ ให้บริจาคคืนแก่ราชวิทยาลัย เพื่อให้ราชวิทยาลัยฯให้บริการกับผู้ด้อยโอกาส ตามที่ราชวิทยาลัยฯเห็นสมควร แต่คาดว่าไม่น่าจะเหลือ



         ด้าน นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โดยหลักการเราต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีนโดยเร็ว ข้อกำหนดจึงออกแบบไม่ให้ยุ่งยาก แต่มีเกณฑ์เบื้องต้นคือ ขอให้เป็นโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงพยาบาล ขอข้อมูลการดูแลผู้ป่วยกรณีหากฉีดแล้วเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งในโรงพยาบาลหรือจุดที่โรงพยาบาลออกไปให้บริการ วิธีการเก็บรักษาวัคซีน โดยมีตู้ควบคุมอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยราชวิทยาลัยฯจะจัดส่งให้อย่างน้อย 100 โดสต่อหนึ่งแห่งที่โรงพยาบาลจัดหน่วยบริการฉีด โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจัดส่งให้ทุกวัน เพื่อลดภาระการจัดเก็บ



          ส่วนต่างจังหวัดใช้เวลาไม่เกิน 2 วันหลังได้รับแจ้ง หรือขึ้นกับศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่จะตกลงกับราชวิทยาลัยฯ



          นพ.ภูมินทร์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้วให้รายงานข้อมูล ซึ่งเราระมัดระวังมาก เนื่องจากไม่อยากให้มีการนำวัคซีนไปซื้อขาย และต้องการให้ประชาชนได้วัคซีนฟรีจริงๆ จึงต้องขอให้หน่วยงาน ห้างร้าน ที่รับจัดสรรวัคซีนส่งรายชื่อผู้ที่จะฉีดวัคซีนเข้ามาให้ราชวิทยาลัยฯในฐานข้อมูลกลางก่อน และเมื่อโรงพยาบาลฉีดวัคซีนให้กับบุคคลนั้นแล้ว ก็จะต้องตัดรายชื่อคนที่ฉีดวัคซีนแล้วจากฐานข้อมูลของราชวิทยาลัยฯ ซึ่งอาจมีความยุ่งยากเล็กน้อย แต่ราชวิทยาลัยฯ ก็ได้วางระบบไอทีไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลก็คงต้องมีระบบไอทีที่สามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวนี้ได้ นอกจากนี้โรงพยาบาลจะต้องรายงานผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนให้เราด้วย ซึ่งจะมีระบบรายงานผลทั้งหมดให้กระทรวงสาธารณสุขทราบต่อไป



           ด้าน น.ส.นิภาพรรณ แสนดำรง หัวหน้างานประกันและประเมินค่ารักษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การประกันความคุ้มครองผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น ราชวิทยาลัยฯทำประกันกับเมืองไทยประกันภัย กรณีได้รับผลกระทบเจ็บป่วยภาวะโคม่า ได้รับเงินชดเชย 1 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 30,000 บาทต่อปี กรณีโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายกับเมืองไทยประกันภัย ไม่ต้องสำรองจ่าย แต่หากไม่ได้เป็นเครือข่ายให้นำใบเสร็จไปเบิกกับทางบริษัท



 

ข่าวทั้งหมด

X