ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564

11 มิถุนายน 2564, 06:55น.


เขตคลองเตย ส่งผู้ป่วยโควิด-19 รักษาที่รพ.สนามเกือบ 100 คน



          ผลการดำเนินการเชิงรุก ตรวจแคมป์ก่อสร้างทุกแคมป์ในกรุงเทพมหานครเป็นการสุ่มตรวจคนงาน 75 คน ในแคมป์ที่มีคนงานเกิน 100 คน



-เขตคลองเตย :ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากแคมป์พักคนงานก่อสร้างไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน 27 คน รพ.ราชพิพัฒน์ 11 คน รพ.เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางบอน) 7 คน รพ.เอราวัน 3 (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด ) 40 คน และรพ.ราชพิพัฒน์ 2 (วัดศรีสุดาราม) 10 คน รวมจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 95 คน



-เขตหลักสี่ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง ตรวจแคมป์คนงานแล้ว 13 แห่ง และจะประสานตำรวจและทหาร ร่วมตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างตามแผนที่กำหนดเพิ่มเติม



-เขตปทุมวัน ตรวจเข้มไซต์งานก่อสร้างโครงการ Koon Siam ซอยรองเมือง 5 และโครงการอาคารปฏิบัติการวิจัยและการเรียนรู้จุฬาลงกรณ์ ถนนพญาไท ยับยั้งการแพร่ระบาดสู่ชุมชน



วันนี้ คัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่ซ.ละลายทรัพย์ หลังพบติดเชื้อ 13 คน



          สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบและสอบสวนโรคกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในซอยละลายทรัพย์ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 13 คน แยกเป็นดังนี้



-ผู้ป่วย(ในเขต) จำนวน 5 คน



-ผู้ป่วย(นอกเขต) จำนวน 8 คน



          สำนักงานเขตบางรัก ดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ดังนี้



1.มีคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อให้สถานประกอบการและผู้ค้าแผงลอยบริเวณซอยละลายทรัพย์ ดำเนินการปรับปรุงสถานที่บริเวณพื้นที่ประกอบการของตัวเอง ให้ถูกสุขลักษณะ โดยปิดสถานที่เป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาดสถานที่ พื้นผิวสัมผัสตามหลักสุขาภิบาล ทำการฆ่าเชื้อโรค



2. มีการคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง ในวันนี้ 11 มิ.ย.64 เวลา 09.00-14.00 น.



ก.อุตสาหกรรม หารือ ก.แรงงาน หยุดคลัสเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม



          วันนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะหารือร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว. แรงงาน เพื่อร่วมมือยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ ที่ขณะนี้ยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส.อ.ท.รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ต้องการให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในระยะต่อไปได้ ส.อ.ท.เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ซึ่งการเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่ ส.อ.ท.มีความกังวล เพราะหากยืดเยื้อขยายวงกว้าง จะยิ่งกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งกระบวนการผลิตได้ แม้ขณะนี้ยังไม่ลุกลามถึงขั้นกระทบต่อฐานการผลิตของภาคใหญ่ๆก็ตาม จึงต้องหามาตรการเพิ่มเติมในการประชุมครั้งนี้



          จากการสำรวจของ ส.อ.ท. เกี่ยวกับการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามาจาก 4 จุดสำคัญได้แก่



1.พนักงานของบริษัท ที่แม้จะเข้มงวดแต่พนักงานต้องเดินทางกลับบ้าน ซื้อสินค้าตามตลาด ผ่านชุมชน ทำให้การติดเชื้อมีง่าย



2.การติดเชื้อจากพนักงานที่จัดจ้างคนภายนอกหรือเอาต์ซอร์ส เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้านทำความสะอาด



3.ระบบขนส่ง ที่แม้โรงงานจะฉีดพ่นฆ่าเชื้อรถ แต่พนักงานก็ยังติดเชื้อมาแพร่ได้



4.โรงอาหารในโรงงานขนาดใหญ่ จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาขาย ซึ่งอาจเล็ดรอดเข้ามาแพร่เชื้อได้



          ดังนั้น ส.อ.ท.จึงหามาตรการเพื่อปิดจุดอ่อน โดยกำหนดให้เอาต์ซอร์สต้องเร่งฉีดวัคซีน และบางโรงงานก็ได้ร่วมมือกันจัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้พนักงานและชุมชนรอบข้างด้วย เป็นต้น



          นอกจากนี้ ส.อ.ท.จะหารือในที่ประชุม ถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ที่ภาคการผลิตส่งออก กำลังขาดแคลนนับแสนคน เพราะแรงงานกลับภูมิลำเนาในการระบาดรอบ 1-2 แล้วไม่กลับมา ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดโควตานำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น



กรมพินิจฯ เผย ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดหายป่วยแล้ว ล่าสุด พบเยาวชนติดเชื้อเพิ่ม 3 คน



          พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยรายละเอียดในการควบคุมโรค



- จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของกรมพินิจฯ ทั้งหมดรักษาหายแล้ว ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกและอบรมฯ ยะลา และสถานพินิจฯ นราธิวาส รวมทั้งสิ้น 87 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการ



-กรมพินิจฯ ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อ (SWAB) เชิงรุกเพิ่มเติม ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.64 พบเยาวชนติดเชื้อเพิ่ม 3 คน จากศูนย์ฝึกและอบรมฯพระนครศรีอยุธยา และอีก 1 คน เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนกลาง (อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ) ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการควบคุมโรคแล้ว



-เน้นย้ำให้ทุกหน่วย เดินหน้าตรวจหาเชื้อทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ให้ครบทุกหน่วยและรายงานผลมาให้กรมรับทราบทุกวัน พร้อมเก็บสถิติการฉีดวัคซีนของเจ้าหน้าที่ทุกคน



-กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดในครอบครัวให้รักษาวินัยของตัวเอง โดยเฉพาะการเดินทางออกนอกสถานที่ไปยังพื้นที่เสี่ยงต่างๆ



นครศรีธรรมราช เจอติดเชื้ออีก 13 คน กระจายใน 3 อำเภอ พบกลุ่มเสี่ยงปกปิดข้อมูล



          สถานการณ์การติดเชื้อที่จ.นครศรีธรรมราช นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า



-พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 13 คน จาก 3 พื้นที่ คือ พื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 7 คน อำเภอร่อนพิบูลย์ จำนวน 2 คน และอำเภอทุ่งใหญ่ จำนวน 4 คน ทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในพื้นที่ 948 คน



-คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งปิดพื้นที่หมู่ที่ 10 ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ เพื่อเฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 10-16 มิ.ย.64



          สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สาเหตุที่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่เป็นปัญหาจากการปกปิดข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงที่พบว่ามีการติดเชื้อหลังพ้นระยะเวลากักตัว และในกลุ่มเสี่ยงสูงที่กลับมาพบเชื้อหลังพ้นระยะเวลากักตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งจากสภาพร่างกาย ความแข็งแรง และการมีภูมิต้านทานของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน



เจ้าหน้าที่หน้าห้อง ในศาลากลางจังหวัด ก็ติดโควิด-19



          นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยกรณีเจ้าหน้าที่ธุรการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากขอลาหยุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 เพื่อไปเฝ้าดูแลหลานอายุ 1 ขวบเศษ ต่อมาพบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันจาก cluster ฟาร์มไก่ อำเภอร่อนพิบูลย์



          จากการสอบสวนโรค พบว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ไปตรวจหาเชื้อครั้งแรก ผลการตรวจไม่พบเชื้อ แต่เพิ่งมาพบเชื้อหลังจากตรวจครั้งที่สอง ขณะนี้ได้ปฎิบัติตามมาตรการ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน้าห้องรองผู้ว่าฯ และคนที่ใกล้ชิดทุกคน ให้หยุดทำงานที่บ้าน (work from home) จนกว่าจะสอบสวนโรคแล้วเสร็จ

ข่าวทั้งหมด

X