การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีวาระเพื่อพิจารณาที่ น่าสนใจ อาทิ กระทรวงแรงงานเสนอปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 35 แห่ง ให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจและสภาวะเศรษฐกิจ โดยขอปรับจากอัตราจ้างขั้นต่ำเดิมเดือนละ 5,780-9,040 บาท เริ่มอัตราขั้นต่ำใหม่เดือนละ 9,040 บาท และปรับอัตราขั้นสูงสุดจากเดิมได้รับเดือนละ 113,520 บาท ให้เพิ่มขั้นอีก 6.5 ขั้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอแนวทางการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และกระทรวงคมนาคมขออนุมัติแก้ไขแบบรายละเอียดและปรับกรอบวงเงินค่าจ้างของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพื่อรองรับการเดินรถไฟประเภทต่างๆ
ยังมี เครือข่ายพลเมืองเน็ตและองค์กรเครือข่ายจะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อคัดค้านร่างชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10 ฉบับ ที่อาคารรัฐสภา
ส่วนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานเมื่อวานนี้ มีมติไม่ผ่านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... ซึ่งสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งน.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. เห็นว่า สมาชิก สปช. อาจยังไม่เข้าใจ แต่ไม่ถือว่าเป็นการคว่ำร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระฯ เพราะที่ประชุม สปช.ได้รับหลักการไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนการพิจารณาครั้งนี้ ถือเป็นการพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งยังสามารถขอแปรญัตติขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างกฎหมายได้ โดยหลังจากนี้ 7 วันจะรับคำแปรญัตติของสมาชิกสปช. จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมสปช.ภายใน 30 วัน
ด้านนายประวิทย์ บึงไสย์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย หรือ ส.ค.ท. เปิดเผยผลการประชุม ส.ค.ท. ซึ่งประกอบด้วยองค์กรครู 4 ภูมิภาค ซึ่งมีข้อสรุปว่าการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเน้นไปที่คุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมาย หรือการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ต้องกำหนดให้มีหมวดที่ว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งมีการนำเสนอในเวทีรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ไปแล้ว และกรรมาธิการการศึกษาฯ ก็เห็นด้วย ดังนั้นจึงจะนำเสนอต่อ สปช. ด้วย
นายสนอง ทาหอม ที่ปรึกษา ส.ค.ท. กล่าวว่า สิ่งที่ทำลายคุณภาพการศึกษาอย่างมาก และทำให้เด็กได้รับความเจ็บปวดอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือ การที่ส่วนกลางแย่งกันจัดงาน การจัดประกวด หรือแข่งขันทักษะทางวิชาการต่างๆ ปีละหลายๆ งาน ทำให้ครูต้องไปทุ่มเทให้กับเด็กที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนเพียงไม่กี่คน ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้ง ผลที่ออกมาคือ คะแนนแบบทดสอบต่างๆ โดยเฉพาะแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ตกต่ำลง
ส่วนนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความกังวลกรณีที่ร่างพ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญคือจัดสรรงบประมาณไม่เกินร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรของประเทศ (จีดีพีเกษตร) ประมาณปีละ 1 แสน -1 แสน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นการช่วยเหลือที่ทำให้เกษตรกรออกมาเรียกร้องสิทธิขอชดเชยรายได้ขั้นต่ำ จนกลายเป็นปัญหาการเมือง จึงอยากให้กระทรวงเกษตรฯ คิดให้รอบคอบ เพราะกฎหมายฉบับนี้ต้องการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ขั้นต่ำและสวัสดิการดีขึ้น เหมือนอาชีพข้าราชการและลูกจ้างเอกชน แต่เกษตรกรคืออาชีพอิสระ หากรัฐบาลต้องนำเงินภาษีมาจ่ายชดเชยเป็นรายได้และสวัสดิการขั้นต่ำให้ประชาชนทุกคน ทุกอาชีพ ที่สุดรัฐบาลก็ต้องขึ้นภาษี
ขณะที่กลุ่มชาวสวนยางที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคายางพาราตกต่ำ เกษตรกรยังไม่สามารถขายยางในราคา 60 บาท/กิโลกรัมตามเป้าหมายของรัฐบาล ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ราคายาง 1 เดือนจากนี้จะขึ้นไปที่ 80 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ กลุ่มมีการหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อรัฐบาล 3 เรื่อง คือการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ การขอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอนไม้ยางพาราออกจากบัญชีต้นไม้ ท้ายร่าง พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไข เพราะการตัดโค่นและการเคลื่อนย้ายไม้ยางที่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาจทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ และเรื่องที่ 3 คือรัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนและผลักดันการแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออกให้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 30 มกราคม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) โดยนับตั้งแต่ปี 2557 กระทรวงพลังงานปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีมาแล้ว 3 ครั้ง รวมเป็น 2.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เป็นการปรับโครงสร้าง เพื่อให้สอดคล้องต้นทุน และจะมีการปรับขึ้นราคาอีก เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงประมาณ 15 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการพิจารณาเก็บภาษีสรรพสามิตเอ็นจีวียังไม่มีการพิจารณา แต่ต้องการให้เชื้อเพลิงเสียภาษีเช่นเดียวกันน้ำมัน นอกจากนี้ กบง. ยังพิจารณาการปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ซึ่งมีผลตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดยจะเก็บเงินแอลพีจีเข้ากองทุน 53 สตางค์ต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม กบง.มีมาตรการการช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อย เพื่อให้ได้ซื้อก๊าซแอลพีจีได้ในราคาเดิมคือ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
*-*