ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Nithi Mahanonda ว่า เห็นหนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์ โดยคนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆเลย อย่างไรก็ดีถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีน”ตัวเลือก”มาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม
ขอเรียนให้คนที่เห็นหนังสือนี้เข้าใจกันตามนี้ครับ
1) กลุ่มหรือบริษัทแบบนี้ที่ว่าเป็นตัวแทนนั้นเป็นไปได้ยาก
2) การเป็นตัวแทนใครในการนำยาหรือวัคซีนจริงต้องได้รับ dossier(รายละเอียดรายการประกอบยาและการผลิต)จากบริษัทเจ้าของเพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตจาก อย.
3) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดขณะนี้ จะติดต่อกับรัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลก่อนเท่านั้น ……เป็นเหมือนกันทุกบริษัททั่วโลกเพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะไม่ติดต่อกับเอกชนเป็นรายๆหรือติดต่อคุยด้วยก็จะไม่ให้ dossier เพื่อยื่นขอใบอนุญาต
4) รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลเมื่อติดต่อแล้วจึงอาจมอบหมายให้บริษัทที่ทำโลจิสติกเรื่องการขนส่งและเก็บวัคซีนที่มีมาตรฐานเฉพาะเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและทำการขนส่งแทนหน่วยงานรัฐได้
5) บริษัทหรือกลุ่มตัวแทนใดที่ว่าเป็นตัวแทนหรือมีวัคซีนเป็นล้านๆโดสโดยไม่มี dossier ที่ต้นทางจัดให้ ไม่ใช่ตัวแทนที่สมบูรณ์ครับ…..คงไม่ได้พบผมเช่นกัน
ถ้าติดตามและอ่านประกาศของราชวิทยาลัยฯในราชกิจจานุเบกษาที่อ้างถึงให้เกินแปดบรรทัด แล้วอ่านข้อบังคับลูกที่ตามมาก็จะทราบว่า ยังไงราชวิทยาลัยฯก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีครับ
ขอร้องอย่าถือโอกาสโจมตีกัน แค่นี้ประชาชนคนเจ็บก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว
สอดคล้องกับ ล่าสุด วันนี้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่า
1. บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าด้านยา และ
2.บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ซิโนฟาร์ม แต่บริษัทที่มาขอขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนฟาร์มคือ บริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด
นพ.ไพศาล กล่าวว่า ดังนั้นกรณีที่บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ออกมาบอกว่ามีวัคซีนนั้นตนไม่แน่ใจเป็นอย่างไร แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมาบอกว่ามีวัคซีนของชิโนฟาร์มเพราะการนำเข้าจะต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียน นำเข้าจากอย.ก่อน