นราธิวาส ดำเนินคดี ผู้ป่วยคนแรก ปิดข้อมูล จนทำให้เกิดการติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้
หลังจากที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวน 83 คน ใน 83 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และรักษาหายแล้ว 16 คน อยู่ระหว่างการรักษา 67 คน ในส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์แอฟริกา ได้ส่งตรวจหาสายพันธุ์จำนวน 10 คน พบเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จำนวน 3 คน ซึ่งโรงพยาบาลตากใบ ได้ทำการตรวจภูมิคุ้มกัน พบว่ามีภูมิคุ้มกันทั้ง 3 คน ขณะนี้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้วทั้ง 3 คน
สำหรับมาตรการของจังหวัดนราธิวาส มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อเข้ารับการกักกันตัวที่ Local Quarantine ในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ขณะที่ จังหวัดนราธิวาส สั่งปิดทั้ง ต.เกาะสะท้อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะดำเนินการทางกฎหมายสำหรับผู้ป่วยรายแรกที่ปกปิดข้อมูลด้วย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส รายงานสรุปว่า
-ผู้ป่วยที่พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นเพศชายอายุ 32 ปี อาศัยอยู่หมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ
-จากการสอบสวนโรค พบว่ามารดา ภรรยาและบุตร ลักลอบจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาพักอาศัยร่วมด้วยตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.ถึงวันที่ 4 พ.ค. 64
-26 เม.ย.64 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ ได้รักษาหลายแห่ง ได้เก็บสิ่งส่งตรวจ
-4พ.ค.64 ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19
-ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 698 คน พบเชื้อจำนวน 79 คน และค้นหาเชิงรุกในชุมชน จำนวน 160 คน พบเชื้อ 2 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติ
-มีการปกปิดประวัติในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง มีกิจกรรม ได้แก่ การละหมาดในมัสยิดร่วมกัน และการสูบบารากู่
CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์จ.นราธิวาส
ผู้ว่าฯนราธิวาส สั่งปิดตลาด-ถนนคนเดิน ในพื้นที่อำเภอเมือง
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงนามคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ปิดตลาดและถนนคนเดินในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส
-ตลาดถนนคนเดิน บริเวณหน้าเขื่อนท่าพระยาสาย ถนนภูผาภักดี ตำบลบางนาค
-ตลาดถนนคนเดิน บริเวณหน้าโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ ตำบลบางนาค
-ตลาดน้ำยะกัง ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส
ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.64 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
หลายจังหวัดใกล้เพชรบุรี ประกาศให้คนที่มาจากบ.แคล-คอมพ์ รายงานตัว
สถานการณ์การติดเชื้อที่โรงงานบริษัท แคล-คอมพ์อิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ลามไปหลายจังหวัด ทำให้หลายจังหวัดประกาศให้คนที่เดินทางมารายงานตัวด่วน
-สำนักงานสาธารณสุข จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสาคร ประกาศขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากบริษัท แคล-คอมพ์ อิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ไปรายงานตัวกับผู้นำชุมชน, รพ.สต.(สถานีอนามัย), รพ.ใกล้บ้าน หรือ ผ่าน QR Code
-มีรายงานว่า ในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีคนที่เดินทางมาจากบริษัทดังกล่าว 481 คน จ.สมุทรสาคร มีประมาณ 43 คน และ จ.มหาสารคาม 179 คน
ชาวอ.สายบุรี ปัตตานี 4 คน พนักงานบ.แคล-คอมพ์ ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19
ล่าสุด คลัสเตอร์ กลุ่มนี้ ได้กระจายลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยในจังหวัดปัตตานี พบผู้ติดเชื้อจากโรงงานแคล-คอมพ์ ใน อ.สายบุรี 4 คน จากพบติดเชื้อทั้งหมด 5 คน พนักงาน 4 คนนี้เดินทางกลับบ้านโดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดเข้า local Quarantine แล้ว ส่วนผู้ติดเชื้ออีก 1 คน มาจาก จ.นราธิวาส
สาเหตุที่มีพนักงานจากปัตตานีติดเชื้อ เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงาน ผลักดันโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน หรือ Co- Payment โดยได้ร่วมกับบริษัท แคล-คอมพ์ ส่งเสริมการมีงานทำเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการจ้างงานเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีผู้สมัครจำนวนมาก
ข้อมูลวันที่ 12 ธ.ค. 63 มีเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางมาทำงานที่บริษัท แคล-คอมพ์ ฯ จำนวน 881 คน มาจาก จ.ปัตตานี 211 คน จ.ยะลา 76 คน และ จ.นราธิวาส 594 คน (ปัจจุบันอาจมีมากกว่านี้ โดยล่าสุด จ.ปัตตานี มีมากถึง 302 คน)
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า หลังจาก มีการประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงระบาดสองตำบล คือ ตำบลสระพังและตำบลบางเค็ม แรงงานทุกคนที่อาศัยในบ้านพักหรือหอพัก ห้ามออกนอกเคหสถานโดยเด็ดขาด ซึ่งทางอำเภอได้มีการตั้งด่านสกัดเพิ่ม 14 จุด เพื่อป้องกันแรงงานหลบหนีออกนอกพื้นที่ รวมถึงด่านคัดกรองป้องกันโรคด้วย ขอบคุณประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแล แจ้งเบาะแสโดยการบันทึกคลิปวิดีโอที่จะมีการแอบนำแรงงานต่างด้าวออกจากพื้นที่ จนทำให้สามารถสกัดกั้นนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ต่อไป
ขณะที่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงเร่งการค้นหาผู้ติดเชื้อ นอกจากตรวจคนในโรงงานแล้ว ก็จะตรวจค้นหาในชุมชนรอบข้างด้วย ใครที่มีการติดเชื้อก็จะรีบเอามาเข้ารับการรักษา และทำการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อการควบคุมโรค ปิดล้อมการแพร่ระบาดไม่ให้คนที่อยู่ในโรงงานออกมาสัมผัสกับคนข้างนอก เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของคนในชุมชนรอบข้างลดการติดเชื้อให้เหลือน้อยที่สุด ก็จะสามารถควบคุมโรคได้
สมุทรสาคร ตรวจหอพักในพื้นที่ ต.ท่าจีน อ.เมือง พบแรงงานผิดกม. 3 คน
สถานการณ์ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร แรงงานจังหวัด รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และชุดปฎิบัติการระดับ ต.ท่าจีน ลงพื้นที่ตรวจสอบหอพักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.ท่าจีน อ.เมือง หลังจากได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีแรงงานต่างด้าวจากจังหวัดอื่น เข้ามาพักอาศัยในหอพัก
จากการตรวจสอบหอพัก พบเป็นหอพัก 2 ชั้น มีห้องพักประมาณ 20 กว่าห้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบผู้พักอาศัย ในหอพัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว พบแรงงานจำนวน 2 คน จากการสอบถามเบื้องต้น ให้การว่าเดินทางมาจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบเอกสารการอนุญาตทำงานสิ้นสภาพ แรงงานทั้ง 2 คนความผิดฐานเป็นคนต่างด้าว อยู่ในราชอาณาจักร โดยการอนุญาตสิ้นสุด ตามพ.ร.บ. คนเข้าเมือง และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัด ในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าออกจังหวัดสมุทรสาคร
นอกจากนี้ทำการตรวจสอบหอพักอีกแห่ง ใน ต.ท่าจีน พบแรงงานต่างด้าว จำนวน 1 คน กำลังประกอบอาชีพเสริมสวย ให้แก่ลูกค้า จึงมีความผิดฐาน เป็นคนต่างด้าว ประกอบอาชีพนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ ตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหา ทั้ง 3 คน พร้อมพยานหลักฐาน ของกลางมาที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อทำบันทึกจับกุม ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายกฯ ฉีดวัคซีนซีนแอสตราฯ เข็มที่ 2 วันนี้ ที่สถาบันบำราศนราดูร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมฉีดวัคซีนแอสตราเชเนกา เข็มสอง ที่สถาบันบำราศนราดูร โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพและทำข่าว เพราะสถานที่คับแคบ โดยจะเผยแพร่ภาพและข่าวผ่านช่องทางต่างๆ ของสำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.64 นายกฯ ได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรกของประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะเดียวกัน วันนี้ เป็นวันแรกที่สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาล แต่ยังคงต้องยึดตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้สื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์เข้าทำเนียบฯ ได้วันละ 2 ทีม ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์วันละ 2 คน เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนคนและลดความแออัด
สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ ย้ำแอสตราเซเนกา ใช้ในไทยขวดละ 10 โดส ฉีดแล้วยาเหลือไม่พอ 1 โดส ต้องทิ้ง
สมาคมเภสัชกรอุตสาหการประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องวัคซีนชนิดหลายโดส (multiple dose vaccine) โดยระบุถึงความกังวลในความเข้าใจคลาดเคลื่อนของการบริหารยาของวัคซีนชนิดหลายโดส (multiple dose vaccine) จึงขอชี้แจงหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ดังนี้
1.การผลิตยาปราศจากเชื้อตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีและตามข้อกำหนดของเภสัชตำรับ มีข้อกำหนดให้การบรรจุมีปริมาตรส่วนเกินเพิ่มจากปริมาณที่กำหนดบนฉลาก เพื่อทดแทนการสูญเสียจากการดูดยาในแต่ละโดส โดยเภสัชตำรับได้กำหนดปริมาตรส่วนเกินขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของยาว่ามีลักษณะใส หรือมีความหนืด การพิจารณาการบรรจุปริมาตรส่วนเกินเป็นข้อมูลจากการวิจัยพัฒนาของผู้ผลิตและหลักเกณฑ์ วิธีการที่ดีในการบรรจุ รวมถึงการใช้จุกยางที่เหมาะสมต่อการรองรับการแทงเข็มฉีดยาซ้ำหลายครั้ง โดยไม่มีการปนเปื้อนเศษจุกยางหลุดร่วงลงในน้ำยา ผู้ผลิตจึงต้องมีเอกสารกำกับยาในการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้ผู้ใช้ปฏิบัติตาม
2.กรณีของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ที่ใช้ในไทย เป็นชนิดขวดละ 10 โดส การดูดวัคซีนจากขวดให้ใช้กระบอกฉีดและเข็มฉีดยาสำหรับการฉีดแต่ละคน ในการดูดวัคซีนแต่ละครั้งให้ได้ปริมาตรที่ฉีด 0.5 มล.ต่อโดส ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หลังจากฉีดครบจำนวนโดสที่ระบุในฉลากและเอกสารกำกับยา อาจมีวัคซีนบางส่วนในขวดซึ่งเป็นปกติ หากใช้กระบอกฉีด และเข็มฉีดยาแบบพิเศษ อาจมีวัคซีนเหลือพอสำหรับการฉีดอีก 1 โดส แต่ต้องมั่นใจว่าปริมาตรวัคซีนที่เหลือต้องสามารถฉีดให้ครบ 1 โดสได้จริง หากไม่พอต้องทิ้งวัคซีนที่เหลือในขวดไป และห้ามนำไปรวมกับวัคซีนที่เหลือในขวดอื่น เพราะอาจเกิดความเสี่ยงปนเปื้อน
3.เนื่องจากวัคซีนเป็นยาปราศจากเชื้อที่ไม่ได้เติมสารกันเสีย จึงต้องระวังการปนเปื้อนในการบริหารยา โดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ สำหรับการดูดยาแต่ละโดส รวมทั้งระมัดระวังการปนเปื้อนจากเศษจุกยางที่หลุดร่วงลงในน้ำยาจากการใช้ขนาดของเข็มฉีดยาที่ไม่เหมาะสม และใช้เข็มแทงซ้ำหลายครั้ง หลังจากการใช้วัคซีนครั้งแรกแล้วควรใช้วัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้ภายใน 6 ชั่วโมง (เมื่อเก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2-25 องศาเซลเซียส) และให้ทิ้งวัคซีนส่วนที่ไม่ได้ใช้ไป