สภาพัฒน์ฯเสนอเร่งควบคุมโควิด-19 ลดคาดการณ์จีดีพีเหลือร้อยละ 1.5-2.5

17 พฤษภาคม 2564, 12:22น.


          การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ล่าสุด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/2564 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงร้อยละ 2.6 หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 2.5-3.5 เหลือเพียงขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 หรือเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 2 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1ในปี2563



           ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง ร้อยละ0.5 เทียบกับการขยาย ร้อยละ0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า



           สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยในไตรมาส1/64อยู่ที่ 93,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51 ส่วนมาตรการการดำเนินมาตรการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ส่งผลให้ในไตรมาสนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวน 20,172 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ16.15ลดลงจากร้อยละ32.49ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า ร้อยละ 52.40 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2564 จาก 3.2 ล้านคนเป็น 5 แสนคน



           ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ ร้อยละ 2เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -ร้อยละ0.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (7.71 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น ร้อยละ1.9ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็น53.3% ของจีดีพี



           ส่วนคำแนะนำในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 64 สศช.เสนอว่า ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ เน้นการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการยกระดับกระบวนการเฝ้าระวังสอบสวนโรคเชิงรุก โดยเฉพาะการเร่งรัดการตรวจเชิงรุกในเขตพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองต่าง ๆ ที่ยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง รวมทั้งการดูแลและควบคุมกิจกรรมและกิจการบางประเภทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดของโรคอย่างเข้มงวด



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X