นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 14พฤษภาคม 2564
1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,256 คน แบ่งเป็น
- จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,523 คน
- จากการคัดกรองเชิงรุก 545 คน
- จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 183 คน
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 5 คน
2.ยอดผู้ป่วยสะสม 96,050 คน เฉพาะช่วงการระบาดเดือนเมษายน 67,187 คน
3.หายป่วยวันนี้ 1,701 คน ยอดหายป่วยสะสม 62,316 คน
4.ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 33,186 คน
- อาการหนัก 1,203 คน
- ใส่ท่อช่วยหายใจ 408 คน
5.เสียชีวิตเพิ่มเติม 30 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 548 ราย
6.จำนวนผู้ได้รับวัคซีนรวมทั้งหมด 2,124,732 คน
- เข็มแรกเพิ่มขึ้น 21,302 คน สะสม 1,416,432 คน
- เข็มสองเพิ่มขึ้น 63,067 สะสม 708,300 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ 30 ราย มีอายุระหว่าง 15-85 ปี โดยผู้ป่วยที่อายุ 15 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง พิการทางสมอง ส่วนเรื่องของปัจจัยเสี่ยง ยังพบว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว ทั้งภรรยา บุตร ญาติ,การติดเชื้อจากคนอื่น เช่น ไปร่วมงานเลี้ยง,ไปสถานที่คนแออัด,มาจากจังหวัดเสี่ยง และมีอาชีพเสี่ยง คือ ขับแท็กซี่ 2 ราย ซึ่งศบค.ให้กรมควบคุมโรคทำสถิติความเสี่ยงต่างๆ เพื่อจัดลำดับผู้ที่จะเข้ารับวัคซีน เช่น กลุ่มคนขับรถสาธารณะ จะต้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเร่งพิจารณาด้วย
ส่วนผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ มี 5 คน ทั้งหมดเป็นคนไทย ไปทำงานที่กัมพูชา 2 คน มาเลเซีย 2 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 คน ทั้งหมดเข้ามาในช่องทางปกติตามกฎหมาย และเข้าสถานกักกัน จนตรวจพบเชื้อและเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน
ขณะที่กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด คือ 1,087 คน รองลงมาคือ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ระยอง พระนครศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ
โดยการตรวจหาเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ได้แก่
-จุดตรวจสนามกีฬาธูปเตมีย์
-กทม.ศูนย์ดินแดง
-คลองเตย โรงเรียนชุมชน
-จุดตรวจชุมชนสีลม
-จุดตรวจห้วยขวาง
-จุดตรวจรองเมือง
-จุดตรวจเคหะหลักสี่
-จุดตรวจตลาดกลางดินแดง
รวมจำนวนที่ตรวจ 7,247 คน พบติดเชื้อ 359 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.95 หรืออาจเทียบได้ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ 100 คน พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 5 คน ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและประชาชนจำเป็นต้องดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างเข้มงวดที่สุด
ขณะที่การตรวจเชิงรุกในชุมชนซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เรียงตามลำดับความรุนแรงได้แก่
-ตลาดห้วยขวาง และแฟลต เขตดินแดง
-แคมป์คนงานก่อสร้าง 2 แห่งติดกัน ในเขตวัฒนา
-ที่พักคนงานก่อสร้างและชุมชนแออัดในเขตคลองเตย
-แคมป์ก่อสร้าง เขตหลักสี่
-บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในเขตลาดพร้าว
-บริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่งกับประตูน้ำ ในเขตราชเทวี
-ปากคลองตลาด เขตพระนคร
-สี่แยกมหานาค / สะพานขาว / ตลาดผลไม้ เขตดุสิต
-คลองถมเซ็นเตอร์ / เสือป่า /วงเวียน 22 / วรจักร / โบ๊เบ๊ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
-ชุมชนโมราวรรณ เขตสวนหลวง
-เรือนจำ (กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นผู้สอบสวนควบคุมโรค) ในเขตจตุจักร
ศบค.ขอให้ประชาชนที่อยู่ใน 11 เขตเหล่านี้ ให้ความร่วมมือในการควบคุมการแพร่ระบาด และดูแลสุขอนามัยของตัวเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดที่เป็นแคมป์คนงาน หากพบการติดเชื้อ ขอให้รีบแจ้งสาธารณสุขพื้นที่ทันที