ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564

13 พฤษภาคม 2564, 13:10น.


ศาลอาญา ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด ผลตรวจ จนท.ทุกคนเป็นลบ



        นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลอาญา ดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่ห้องพิจารณาคดีและพื้นที่ใกล้เคียง ตามมาตรการทำความสะอาดภายหลังการพิจารณาคดีแล้วเสร็จ และพ่นฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ และในวันนี้ได้ประสานไปที่กรมควบคุมโรคติดต่อให้เข้ามาสอบสวนโรคเพื่อประเมินระดับความเสี่ยงของบุคลากร เจ้าหน้าที่ศาลอาญาที่สัมผัสโรค และดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามขั้นตอนของทางสาธารณสุข



        ขณะเดียวกัน ศาลอาญา ได้แจ้งศูนย์ปฎิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯ สำนักการแพทย์ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการตามขั้นตอนและมาตรการทางสาธารณสุขในส่วนอื่น ๆ ต่อไป



         ส่วนบุคลากรของศาลอาญาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 ที่นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้รับการประเมินว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เนื่องจาก อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อดังกล่าวมากกว่า 2 เมตร และได้เดินทางไปตรวจหาเชื้อในช่วงบ่ายวันที่ 12 พ.ค.64 ซึ่งมีการแจ้งผลตรวจของเจ้าหน้าที่ศาลอาญาให้ทราบแล้วว่าผลเป็นลบทุกคน ไม่พบการติดเชื้อ



        ตั้งแต่มีการเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ศาลอาญาได้ให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อไวรัสดังกล่าว 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เม.ย.64, ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 พ.ค.64 ผลการตรวจไม่มีผู้ใดติดเชื้อ โดยศาลอาญาให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด



‘หมอมนูญ’ ขอให้ช่วยกันฉีดวัคซีน สู้โควิดสายพันธุ์อังกฤษ



        นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ  โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขณะนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่ติดต่อได้ง่าย แพร่กระจายได้เร็ว และระบาดในวงกว้าง กำลังครองโลก จนกว่าจะมีไวรัสสายพันธุ์อื่นที่แพร่กระจายง่ายกว่าเข้ามาแทนที่



        จากข้อมูลพบว่า  ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมในฤดูร้อนอุณหภูมิสูง และในฤดูฝนความชื้นสูง  นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในทวีปเอเซียขณะนี้  



        ไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษอันตรายรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม โปรตีนส่วนที่เป็นหนามของเชื้อไวรัสจับกับตัวรับของเซลล์เยื่อบุจมูกและทางเดินหายใจได้ดีขึ้น ทำให้เชื้อไวรัสเข้าเซลล์มากขึ้น เพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้เกิดปอดอักเสบเร็วขึ้น เสียชีวิตเพิ่มขึ้น



        ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษเข้าประเทศอินเดียตั้งแต่เดือนม.ค.64 ขณะนี้มีการแพร่ระบาดทั้ง 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์ประจำถิ่นหรือสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งพบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คนในประเทศอินเดีย เสียชีวิตจำนวนมาก โดยผู้เชี่ยวชาญอินเดีย เชื่อว่า เกิดจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษมากกว่าจากไวรัสสายพันธุ์อินเดีย



         และเมื่อดูการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ปี 2563 ในลาว กัมพูชา และไทย เมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์อังกฤษปีนี้ พบว่าปีนี้ จำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเห็นได้ชัดในทั้ง 3 ประเทศวัคซีนที่มีในปัจจุบัน ทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษได้  ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องรีบจองคิว เข้ารับการฉีดวัคซีนทันที อย่ารีรอ วัคซีนซิโนแวคต้องฉีดครบ 2 เข็ม  ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มเดียวก็พอ ถ้ามีวัคซีนเหลือ ค่อยมารับเข็ม 2 ถ้าทุกคนปฏิบัติตาม คนในประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสิ้นปีนี้ได้เหมือนประเทศอังกฤษ



นักวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด เตือนการใช้วัคซีนจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์มากขึ้น



        วารสารการแพทย์เดอะ แลนเซต เผยแพร่งานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเกี่ยวกับการทดลองใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จาก 2 บริษัทร่วมกัน แต่หากฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นของบริษัทแอสตราเซเนกาและฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 จะทำให้ผู้รับวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าการรับวัคซีนของบริษัทเดิมจำนวน 2 เข็ม



          นักวิจัยได้เริ่มศึกษาแนวทางการใช้วัคซีนจาก 2 บริษัทร่วมกัน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำหลายแห่ง ในการจัดการปัญหาขาดแคลนวัคซีน และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์จึงจะได้ข้อสรุป



         อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะ ซึ่ง ดร.แมทธิว สเนป รองศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและหัวหน้าผู้ตรวจสอบการทดลอง กล่าวว่าอาการเหล่านี้ เป็นปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นหลังจากการรับวัคซีน และสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยในการทดลองผู้รับวัคซีน 830 คน อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับการสุ่มกำหนดตารางการฉีดวัคซีน 2 ชนิดที่แตกต่างกัน 4 แบบ (แอสตราเซเนกา/แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์/ไฟเซอร์, แอสตราเซเนกา/ไฟเซอร์, ไฟเซอร์/แอสตราเซเนกา) โดยรับการฉีด 2 เข็มห่างกัน 28 วัน



         นักวิจัย พบว่า อาการไม่พึงประสงค์จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 โดยร้อยละ 34 ของผู้ที่รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกและไฟเซอร์เข็มที่ 2 จะมีไข้



-หากรับวัคซีนของแอสตราเซเนกาทั้ง 2 เข็มผู้รับวัคซีนประมาณร้อยละ 10 จะมีไข้



-หากรับวัคซีนเข็มแรกเป็นไฟเซอร์ เข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกา ผู้ที่รับวัคซีนร้อยละ 41 จะมีไข้



-แต่หากรับไฟเซอร์ 2 เข็มผู้ที่มีไข้จะอยู่ที่ร้อยละ 21



          นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่มีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดข้อ ไม่สบายตัวและปวดกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถใช้อะเซตามีโนเฟน (acetaminophen ชื่อทางการค้า Tylenol, Paracetamol) เพื่อลดอาการ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังการฉีดวัคซีน และไม่มีผู้ใดที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กับไม่พบอาการลิ่มเลือดอุดตัน



          ขณะนี้ นักวิจัยกำลังทดสอบการฉีดวัคซีนแบบผสมที่ผลิตโดยโมเดอร์นาและโนวาแว็กซ์ และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันตามตารางประเภทต่างๆ ต่อไป



เตรียม 2 เที่ยวบิน รับคนไทยกลับจากอินเดีย 15 พ.ค.และ 22 พ.ค.



          นายธานี แสงรัตน์  โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในอินเดียที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ได้นำถุงยังชีพไปมอบให้กับคนไทยในอินเดีย พร้อมดูแลความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด  



          ส่วนคนที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนนี้ มีเที่ยวบินอีก 2 เที่ยว ที่คนไทยในอินเดียสามารถโดยสารกลับไทยได้ คือ



-เที่ยวบินวันที่ 15 พ.ค.64 จำนวน 150 คน



-เที่ยวบินวันที่ 22 พ.ค.64 อยู่ระหว่างเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะกลับไทย



          นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจนไน ยังเตรียมจัดเที่ยวบินในเดือนมิ.ย.64 เพื่อรับคนไทยในอินเดียกลับบ้าน 



-เที่ยวบินแรก จะบินในวันที่ 4 มิ.ย.64 เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.64 เป็นต้นไป



          โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ไทยได้บังคับใช้มาตรการชั่วคราว ระงับการออกเอกสารการเดินทางสำหรับคนต่างชาติ หรือ COE และการตรวจลงตราที่มีต้นทางหรือถิ่นพำนักจากอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และเนปาลแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เข้าประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 4 ประเทศดังกล่าวด้วย ไม่เว้นแม้แต่การแวะเปลี่ยนเครื่อง



จ.สมุทรสาคร ค้นโรงงานที่อ.กระทุ่มแบน พบคนงานทำผิดพ.ร.บ.คนเข้าเมือง 4 คน



         จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับเบาะแสการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมาทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร



        สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สมุทรสาคร นำโดย พ.ต.อ.ภาสกร รัตนปนัดดา ผกก.ตม.จ.สมุทรสาคร บูรณาการร่วมกับ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ฝ่ายปกครอง อำเภอเมืองสมุทรสาคร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ประกันสังคมจังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) สภ.กระทุ่มแบน และ ตำรวจสันติบาลจังหวัดสมุทรสาคร



         ปิดล้อมตรวจค้น บริษัท เคนจิ อัลลอย จำกัด และ บริษัท ฟ่านด๋า ฟิตติ๊งส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 88/2 ม.5 ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจพบแรงงานทั้งสิ้น 91 คน เป็นแรงงานสัญชาติไทย 41 คน สัญชาติเมียนมา 43 คน และ ลาว 7 คน จากการตรวจสอบเอกสารการทำงานและการอยู่ในราชอาณาจักร พบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ จำนวนทั้งสิ้น 4 คน จึงได้ดำเนินการจับกุมดำเนินการตามกฎหมายต่อไป



CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สมุทรสาคร



 

ข่าวทั้งหมด

X