ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564

13 พฤษภาคม 2564, 09:07น.


พนง.บ.อะไหล่ผลิตรถยนต์ ที่เทพารักษ์ สมุทรปราการ ติดเชื้อ 142 คน เสี่ยงสูงไม่ต่ำกว่า 200 คน  



         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบางเสาธง จ.สมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคทีมปฏิบัติการ ตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19  รายใหม่ภายในบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ท้ายนิคมอุตสาหกรรมเทพารักษ์ ถ.เทพารักษ์ ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง หลังจากทราบว่ามีพนักงานรายหนึ่งระดับหัวหน้าเดินทางไปเยี่ยมญาติในย่านชุมชนคลองเตยเมื่อกลางเดือนเม.ย.64 ก่อนที่จะมีข่าวคนในชุมชนคลองเตยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก

จากการตรวจสอบพบว่า



-พนักงานทั้งหมด 342 คน ซึ่งมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว



-แรงงานชาวไทย 164 คน พบเชื้อ 18 คน



-แรงงานต่างด้าว 196 คน พบเชื้อ 111 คน



-เมื่อวานพบผู้ติดเชื้อ 13 คน



-ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่โรงงานแห่งนี้จำนวน 142 คน



          เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สั่งปิดโรงงานแห่งนี้ชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 24 พ.ค. 64 แต่ทางบริษัทขอปิดยาวจนไปถึง 31พ.ค.64 เพื่อความปลอดภัยของพนักงานทุกคน

          จากการสอบสวนโรคทราบว่า ก่อนหน้านี้พนักงานซึ่งเป็นระดับหัวหน้าแผนกได้เดินทางไปเยี่ยมญาติในย่านคลองเตยก่อนที่จะกลับมาทำงานตามปกติ และมีการเรียกประชุมพนักงานรวม 13 คน จนมาทราบว่าญาติของหัวหน้าแผนกคนดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 จึงเดินทางไปตรวจพบว่าตัวเองก็ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน บริษัทจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เข้าตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมดโดยเฉพาะพนักงานที่ร่วมประชุมกับหัวหน้าแผนกทั้ง 12 คน ซึ่งผลการตรวจพบว่าผู้ร่วมประชุมทั้ง 12 คนติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด จึงส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคม

          นอกจากนี้ ส่งพนักงานที่ตรวจพบว่าติดเชื้อทั้งหมดไปรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆ ตามสิทธิ์ประกันสังคมและโรงพยาบาลสนามของทางจังหวัด



         ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งติดตามพนักงานกลุ่มเสี่ยงสูงอีกไม่ต่ำกว่า 200 คน ที่กระจายพักตามห้องเช่าต่างๆในพื้นที่อำเภอบางเสาธง และใกล้เคียง



พบติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ 12 คน ที่โรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมโมเรียล 



          สถานการณ์โควิด-19 เชียงใหม่ พบคลัสเตอร์ใหม่อีก 1 กลุ่ม คือคลัสเตอร์โรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมโมเรียล มีผู้ป่วยและผู้สัมผัสร่วมบ้าน 4 คน บุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานสนับสนุน 8 คน รวมทั้งหมด 12 คน



          คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอแจ้งให้ประชาชน ผู้ป่วย และพนักงานที่เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมโมเรียล ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.64 เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือศูนย์วัณโรคเขต 1 เดิม หน้าร้านสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ ทุกวันในเวลาราชการ



          ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ เปิดเผยว่า ได้ตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นแหล่งแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ ไปแล้ว 36 แห่ง จากการค้นหากว่า 6,400 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 51 คน ซึ่งถือว่าจังหวัดเชียงใหม่มีความปลอดภัยสูง สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไปจะได้ทำการตรวจในกลุ่มพนักงานขับรถขนส่งสินค้า พนักงานขับรถส่งพืชผลทางการเกษตร พนักงานขับรถทัวร์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี   



ปรับสูตรการฉีดวัคซีนได้ 30-50-20 ตามความเหมาะสม แต่รายชื่อทุกคนต้องเข้าระบบ



          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในรูปแบบ Walk in ว่า ขณะนี้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการฉีด แต่ไม่สามารถจองคิวผ่านระบบหมอพร้อมได้ ดังนั้นต้องตั้งจุดบริการ Walk in เพื่อเข้าถึงวัคซีนของประชาชนมากที่สุด จึงต้องประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องถึงแนวทางปฏิบัติ หลักการคือ



1.กรมควบคุมโรค จะระบุยอดเป้าหมายของการฉีดแต่ละจังหวัดให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อยร้อยละ 70 จะฉีดแตกต่างกันตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด เช่น ขณะนี้ระบาดในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะกระจายวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาด ส่วนจังหวัดอื่นจะกระจายไปให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร ตามลำดับ หากจังหวัดไหนมีความพร้อมสามารถเริ่มได้เลย การฉีดวัคซีนปูพรมจะฉีดให้ผู้สมัครใจให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดให้มากที่สุด 

2.นโยบาย Walk in จะสอดคล้องกับนโยบายปูพรม ต้องลดอุปสรรคการเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด การฉีดวัคซีนมีหลายช่องทาง



-ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน จะทราบวันและเวลาชัดเจน ไม่ต้องนั่งรอ เป็นช่องทางสะดวกสุด



-สถานพยาบาลที่มีรายชื่อผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว จะนัดเวลาฉีด



-ผู้ไม่มีประวัติการรักษาโรค แต่จำเป็นและต้องการฉีด เช่น คนขับรถสาธารณะ คนขับรถแท็กซี่ ฯลฯ กลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการ Walk in จังหวัดจะเป็นผู้บริหารจุดบริการฉีด ประชาสัมพันธ์จุดฉีดจำนวนต่อวันให้ประชาชนติดตามประกาศแต่ละจังหวัด แต่สัดส่วนบริหารวัคซีน เบื้องต้นคุยกัน ยกตัวอย่างสูตร 30-50-20 คือ ลงทะเบียนผ่านระบบร้อยละ 30 สถานพยาบาลกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ร้อยละ 50 และจุด Walk in ร้อยละ 20 เป็นต้น สูตรนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ กำกับดูแล



          นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนแบบ Walk in เหมาะกับสถานที่เปิดโล่ง เช่นสถานีกลางบางซื่อ ส่วนวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไปตรวจดูจุดการทดลองฉีดวัคซีนที่อาคารจามจุรีสแควร์ ส่วนวันพรุ่งนี้ 14 พ.ค. 64 เปิดพื้นที่เดอะมอลล์ บางกะปิ เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน หลังจากที่เมื่อวานนี้ นายกฯ ไปตรวจดูจุดฉีดวัคซีนที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว



          สำหรับองค์กรหรือโรงงานขนาดใหญ่ จะฉีดวัคซีนแบบกลุ่ม (Group vaccination) เช่น มีพนักงาน 1,000 คน จะอำนวยความสะดวกให้ แต่หากประสานกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อฉีดได้ก็จะยินดี



          ข้อสำคัญการฉีด คือ การบันทึกข้อมูล ผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ไม่ว่าจะฉีดจากหน่วยบริการไหน ทุกคนต้องมีรายชื่อเข้าระบบติดตามได้



          การฉีดให้ชาวต่างชาติ จะประสานกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตแต่ละประเทศ เพื่อส่งรายชื่อเข้ามาเพื่อระบุตัวตน



          กลุ่มแรงงานต่างด้าวบางจังหวัด จะฉีดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ควบคุมการระบาด



          กลุ่มชาวต่างชาติผิดกฎหมาย จะมีระบบพิเศษ เนื่องจากระบุตัวตนยาก แต่จะพยายามฉีดให้ครอบคลุมมากที่สุด



รมว.สธ. เผยจังหวัดไหนพร้อม ฉีดแบบ Walk In ได้ทันที



          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การพิจารณาฉีดวัคซีนในรูปแบบ Walk In ว่าต้องจัดวัคซีนให้พอ และอำนวยการความสะดวกให้มากที่สุด พื้นที่ไหนพร้อมก็เริ่มได้ อย่าง กรุงเทพมหานคร ขอวัคซีนมา 1,000,000 โดส แต่การบริหารจัดการอยู่ที่พื้นที่ ซึ่งจะประกาศว่าจะให้บริการอย่างไร สิ่งสำคัญคือ การ Walk In อาจไม่ได้ทุกคน หากบางศูนย์มีคนมารับบริการมาก แต่พยายามทำให้สะดวกสบายมากที่สุด สรุปคือ การ Walk In รับวัคซีนโควิด-19 ทำได้ทั่วประเทศ อยู่ที่แต่ละจังหวัดพิจารณาว่าจะเริ่มอย่างไร เพราะการบริหารภายใต้ ศบค.จะจัดลำดับขั้นตอนการบริหาร โดยกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่หลักในการจัดหาวัคซีน เพื่อให้แต่ละพื้นที่ไปบริหารจัดการกันเอง



ประกันสังคม สำรวจความต้องการฉีดวัคซีน ให้นายจ้างจองคิวให้ลูกจ้างได้ภายใน14 พ.ค.



          สำนักงานประกันสังคม ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทำแบบสำรวจความต้องการฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถเข้าไปกรอกแบบสอบถามได้ที่ช่องทาง e-Service หรือ บริการอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานประกันสังคมว่าบริษัทต้องการให้มีการฉีดวัคซีน หรือไม่ต้องการให้ฉีดวัคซีน ส่งเป็นไฟล์ excel ผ่านอีเมล หรือส่งข้อมูลผ่าน fax ไปยังสำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ หรือแนะนำให้ติดต่อไปยังสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบสถานประกอบการโดยตรง ภายในวันที่ 14 พ.ค.64 ก่อนเวลา 12.00 น.



          การสำรวจครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลความต้องการเพื่อใช้ในการพิจารณาจัดทำแผนการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม



          สำหรับลูกจ้างที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 3 เดือน แนะนำว่าให้แจ้งไปก่อน เพราะสำนักงานประกันสังคม จะตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง



UN เปรียบการระบาดของโควิดกลายพันธุ์ ‘เหมือนไฟป่า’ เร่งผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า



          นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ(UN) เปิดเผยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความสามารถในการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เป็นสองเท่า เพื่อให้สามารถกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ แต่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีน ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะที่อินเดีย ขณะที่ประเทศร่ำรวยมีการกักตุนวัคซีนไว้มากเกินกว่าความต้องการใช้จริง 



          นายกูเตอร์เรส กล่าวหลังจากพบหารือกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีการต่างประเทศของรัสเซีย ว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ที่จะอาศัยอยู่ในโลกนี้ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ได้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้แม้แต่โดสเดียว และยังทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว "เหมือนไฟป่า" เขากล่าวเรียกร้องว่าการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของโลกเป็นสองเท่าและมีการกระจายวัคซีนที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

ข่าวทั้งหมด

X