ลุ่มเจ้าพระยาทำนาปีได้แล้ว! กรมชลฯวางแผนทำการเกษตร ยึดน้ำฝนเป็นหลัก

11 พฤษภาคม 2564, 17:27น.


          การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อทำการเกษตร หลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันในหลายพื้นที่ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้  โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่มีความพร้อมในการทำนาปีได้แล้ว จึงให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีความพร้อมให้เริ่มเพาะปลูกพืชพร้อมกันโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนตุลาคม เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย



          รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการตามมาตรการที่วางไว้ อาทิ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) และเพียงพอสำหรับใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือรวม 5,935 หน่วย ไว้ในพื้นที่เสียงอุทกภัย ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที



          ปัจจุบัน (11 พ.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,292 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 39,775 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,873 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 15,998 ล้าน ลบ.ม.





          อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งให้ตรวจสอบเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 437 แห่ง และอาคารชลประทานทั่วประเทศอีก 1,806 แห่ง ให้มีความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญที่ได้เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ข่าวทั้งหมด

X