พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2564
1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,630 คน แบ่งเป็น
- จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1321 คน
- จากการคัดกรองเชิงรุก 301 คน
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 8 คน
2.ยอดผู้ป่วยสะสม 85,005 คน เฉพาะช่วงการระบาดเดือนเมษายน 56,142 คน
3.หายป่วยแล้ว 55,208 คน
4.ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 29,376 คน
- อาการหนัก 1,151 คน
- ใส่ท่อช่วยหายใจ 389 คน
5.เสียชีวิตเพิ่มเติม 22 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 421 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นชาย 9 ราย หญิง 13 ราย อายุระหว่าง 30-92 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ 13 ราย , เชียงใหม่ 2 ราย , ปทุมธานี สุพรรณบุรี ระยอง สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น มหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงยังเกิดจากการติดเชื้อจากคนในครอบครัว เพื่อน ไปสถานที่แออัด เช่น ตลาด หรืองานศพ ในจำนวนผู้เสียชีวิต ยังมีคนขับรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อจากผู้ดูแล และในจำนวนผู้เสียชีวิต มีอยู่ 2 ราย ที่เสียชีวิตในวันเดียวกับที่ทราบผลว่าติดเชื้อ โดยทั้ง 2 ราย มาถึงแพทย์ในระยะที่มีอาการหนักแล้ว และอีก 7 ราย เสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์หลังจากทราบผลว่าติดเชื้อ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อาการของโรคมีความเปลี่ยนแปลงและทรุดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากเป็นผู้มีความเสี่ยง มีอาการเข้าข่าย ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด
ศบค.ยังวิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงติดเชื้อ อันดับแรกๆ มักเกิดการติดเชื้อภายในครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อน ผู้ดูแล ที่ไปติดเชื้อจากตลาด ชุมชน และระบบขนส่ง ส่วนพฤติกรรมและสถานที่เสี่ยง เช่น การรวมกลุ่มในสถานที่แออัด ไปงานศพ งานบวช ทำงานในที่เดียวกัน จัดประชุมร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกัน ลักลอบเล่นการพนัน เช่น ชนไก่ ชนวัว เปิดโต๊ะสนุก ส่วนกลุ่มบุคคลที่ทำงานสาธารณะต้องพบปะผู้คนมาก หรือเป็นด่านหน้าในการดูแลผู้ป่วย อย่างบุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ ทหาร หรือพนักงานขับรถสาธารณะ ก็มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีสถานที่เสี่ยงอื่นๆ เช่น เรือนจำ ห้างสรรพสินค้า และธนาคาร