ทันสถานการณ์โลกเวลา 06.30 น.วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564

10 พฤษภาคม 2564, 05:21น.


เด็กนักเรียนหญิงอัฟกัน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 60 ราย เหตุระเบิดโรงเรียนในกรุงคาบูล



         ความสูญเสียเพิ่มขึ้นจากเหตุระเบิด 3 ครั้งซ้อน บริเวณประตูทางเข้าโรงเรียนมัธยมในกรุงคาบูล ของอัฟกานิสถาน ขณะที่ นักเรียนกำลังออกจากอาคารเรียนและกลับบ้าน เมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น 



          โฆษกหญิงของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง เนื่องจาก โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนของรัฐบาลรับนักเรียนทั้งชายและหญิง โดยจะจัดรอบการศึกษาวันละ 3 รอบ และเหตุเกิดขึ้นในรอบที่ 2 ที่เป็นของกลุ่มนักเรียนหญิง



          นายทาริค เอเรียน โฆษกกระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถาน เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นนักเรียนหญิงอายุ 11-15 ปี เพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ราย เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเกิดเหตุที่รายงานระบุว่าเสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บนับร้อยคน



          เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ย่านที่อยู่อาศัยของชุมชนมุสลิมชีอะห์ทางตะวันตกของกรุงคาบูล ขณะที่ กลุ่มตอลิบัน แถลงประณามเหตุระเบิดครั้งนี้พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง



          เอพี ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเกิดเหตุระเบิดขึ้นบ่อยครั้ง แทบทุกครั้งมุ่งเป้าโจมตีมุสลิมชีอะห์ที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อย และกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างความรับผิดชอบ แต่ครั้งนี้ยังไม่ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ



          เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐฯและพันธมิตร กำลังถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน



          กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯประณามว่าเป็นการโจมตีต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที



‘อิสราเอล โมเดล’ ประเทศต้นแบบ ประเทศแรกที่เร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด จนคุมอยู่



          สาเหตุที่ทำให้ อิสราเอล กลายเป็นประเทศต้นแบบของโลก จนถูกเรียกขานว่าเป็น ‘อิสราเอล โมเดล’ ควบคุมสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้สำเร็จ มาจากการที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู เดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชน จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถสยบเชื้อโควิด-19 ได้อย่างเห็นผล 



          กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล เร่งรณรงค์ตั้งเป้าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ mRNA ให้ประชาชน 6,500,000 คน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป หรือคิดเป็นจำนวนประชากรร้อยละ 71 ของประเทศที่มีประชากรกว่า 9,0000,000 คน และเมื่อถึงวันที่ 7 พ.ค. 64 จำนวนโดสของวัคซีนโควิด-19 ที่แจกจ่ายไปทั่วอิสราเอล อยู่ที่ 10,500,000 โดส โดยมีผู้ได้รับการฉีดครบสองโดสแล้วกว่า 5,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 56



          ผลการศึกษาประเมินโครงการวัคซีนแห่งชาติของอิสราเอล ระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์ สามารถป้องกันการติดเชื้อ ป่วย เสียชีวิต ได้กว่าร้อยละ 95



          ชาวอิสราเอล โล่งใจมากขึ้นเมื่อได้ยินรายงานจากทางการว่า ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 แม้แต่รายเดียวเป็นวันแรกในรอบ 10 เดือน เมื่อวันที่ 24 เม.ย.64 ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 6,346 ราย และเป็นประเทศที่กล้าบอกกับประชาชนด้วยความมั่นใจว่า ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่กลางแจ้งอีกต่อไป



อียู สั่งซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ เพิ่มอีก 1.8 พันล้านโดส



          สหภาพยุโรป(อียู) ได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เพิ่มอีก 1,800,000,000 โดส แสดงความเชื่อมั่นในการใช้วัคซีนตัวดังกล่าว คาดว่า เปิดทางให้ประเทศสมาชิกสามารถบริจาควัคซีนให้ประเทศอื่นๆ ได้



          เว็บไซต์ ยูเอสนิวส์ รายงานว่า นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ได้มีการอนุมัติสัญญาซื้อวัคซีนไปแล้ว 900,000,000 โดส และจะมีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับวัคซีนอีก 900,000,000 โดส ในอนาคตระหว่างปีพ.ศ.2564 ถึง 2566



          สัญญาการซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ฉบับใหม่นี้ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกอียู 27 ประเทศ และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า อียู เชื่อมั่นในเทคโนโลยีวัคซีนประเภท mRNA ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำงานแตกต่างกับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซเนกา โดยเมื่อ mRNA เข้าสู่เซลล์มนุษย์แล้ว จะกระตุ้นให้เซลล์มนุษย์สร้างโปรตีนส่วนที่เป็นหนามไวรัส โปรตีนส่วนที่เป็นหนามของไวรัส จะลอยอยู่ในกระแสเลือดของมนุษย์ และจะกระตุ้นให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกัน



ไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว! สิบกว่าประเทศในแอฟริกา ยังรอคอยวัคซีน  



          ขณะที่คนในหลายประเทศถกเถียงกันเรื่องวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขนานใดดีที่สุด คนในบางประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ไม่มีวัคซีนให้เลือกฉีดเลยแม้แต่เข็มเดียว



          องค์การอนามัยโลก เตือนว่า ยังมีสิบกว่าประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาที่ยังรอคอยวัคซีนอยู่ ประเทศที่รั้งท้ายรายชื่อที่จะได้รับวัคซีนได้แก่ ชาด บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี เอริเทรีย และแทนซาเนีย



          ความล่าช้าและการขาดแคลนวัคซีนทำให้แอฟริกายิ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งทวีปมีประชากรเกือบ 1,370 ล้านคน ได้รับวัคซีนเพียงร้อยละ 1 ของที่ฉีดกันไปแล้วทั่วโลก



          นายเกียน คานธี ผู้ประสานงานด้านการจัดสรรวัคซีนโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก เตือนว่า ประเทศที่ยังไม่มีวัคซีนมีโอกาสที่จะเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ขอให้ประเทศร่ำรวยบริจาควัคซีนให้ประเทศเหล่านี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในทวีปนี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับทวีปอื่น แต่เชื่อว่ามีตัวเลขที่ไม่ได้รับรายงานจำนวนมาก



          แพทย์โรคติดเชื้อในประเทศชาด ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่อยู่ในแอฟริกากลาง เปิดเผยว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมและเศร้าใจ เพราะแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงติดเชื้อยังไม่ได้รับการฉีดเลยแม้แต่คนเดียว



          ประเทศชาด มีผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นผู้ลอบเข้ามาทางพรมแดนทางบกในช่วงที่ยังปิดท่าอากาศยานในเมืองหลวง แต่หลังจากที่เปิดท่าอากาศยาน ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 4,835 คน มีผู้เสียชีวิต 170 ราย



          เอพี รายงานว่า ประเทศชาด มีโอกาสจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนหน้า หากมีตู้แช่เย็นเก็บวัคซีนที่ความเย็นระดับติดลบ ขณะที่อุณหภูมิประเทศเฉลี่ยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส



          เช่นเดียวกับเฮติ อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ทั้งที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาจากโครงการโคแวกซ์ 756,000 โดส เพราะรัฐบาลไม่มีตู้แช่เย็นเก็บวัคซีน ทำให้มีความกังวลเรื่องผลไม่พึงประสงค์ และต้องการวัคซีนแบบฉีดเข็มเดียวมากกว่า



ซีอีโอ ‘ไฟเซอร์’ ยืนยันขายวัคซีนให้ชาติกำลังพัฒนาราคาถูก



          สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นายอัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงพนักงานของบริษัทไว้ในเว็บไซต์ว่า ได้กำหนดราคาการจำหน่ายวัคซีนไว้หลายระดับ



-ชาติที่พัฒนาแล้ว จะขายในราคาแพง



-ชาติที่มีรายได้ปานกลาง จะลดระดับราคาลงมาครึ่งหนึ่ง



-ชาติยากจน สามารถซื้อได้ในราคาทุน



-ขายวัคซีนให้สหรัฐฯในราคา 1 โดส 2 เข็ม 39 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,211 บาท)



-ขายให้โคลัมเบีย 2 เข็ม 24 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 745 บาท



-แอฟริกาใต้ ตกลงสั่งซื้อในราคาประมาณ 620 บาท เท่านั้น



          ซีอีโอของไฟเซอร์ ระบุว่า แต่ที่ผ่านมามีแต่เพียงชาติพัฒนาแล้วที่มั่งคั่งเท่านั้นที่ออร์เดอร์วัคซีนของบริษัทเข้ามา ทำให้รู้สึกวิตกอยู่เช่นเดียวกัน ทำให้ตนพยายามติดต่อผู้นำของชาติรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำหลายประเทศทางจดหมาย โทรศัพท์ หรือด้วยการส่งข้อความสั้น เรียกร้องให้เร่งจองวัคซีนของบริษัทเพราะปริมาณการผลิตมีจำกัด



          นายบูร์ลา อ้างไว้ในจดหมายว่า เหตุผลที่ชาติกำลังพัฒนาไม่สั่งจองวัคซีนของบริษัท น่าจะเป็นเพราะเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งยังไม่เคยผ่านการใช้งานจริงมาก่อน หรือไม่ก็ประเทศเหล่านั้น มีวัคซีนที่ผลิตได้ในท้องถิ่นเป็นทางเลือกอยู่ก่อนแล้ว



          บลูมเบิร์ก ระบุว่า จดหมายดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดการถกเถียงกันอย่างหนักเรื่องความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน ที่ส่งผลให้วัคซีนส่วนใหญ่ถูกกักตุนโดยชาติพัฒนาแล้วที่มั่งคั่ง ขณะที่หลายชาติกำลังพัฒนา ขาดแคลนวัคซีน ในช่วงที่เชื้อกลับมาระบาดระลอกใหม่ ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ



          ซีอีโอของไฟเซอร์ ระบุว่า ในปีนี้บริษัทมีแนวโน้มจะผลิตวัคซีนและจัดส่งตามออร์เดอร์ได้ราว 3,000 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ กว่า 116 ประเทศ โดยวัคซีนที่จัดส่งไปแล้วที่ผ่านมาราว 450 ล้านโดส อยู่ในมือของประเทศมั่งคั่งเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่มีอีกราวกว่า 1,000 ล้านโดส หรือราวร้อยละ 40 ของปริมาณที่ผลิตได้ ส่งไปให้ชาติที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ  



หญิงเวียดนาม ซึ่งอาศัยอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ เสียชีวิตจากโควิดรายแรกของลาว



          หลังจากที่เมื่อวานนี้ 9 พ.ค. 64 กระทรวงสาธารณสุขของลาว ยืนยันผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 คนแรกในประเทศ คือ ผู้ป่วยคนที่ 364 เป็นหญิงชาวเวียดนาม อายุ 53 ปี



          รายงานของรัฐบาลลาว ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิตคนแรกมีโรคประจำตัวหรือไม่ แต่เปิดเผยว่าก่อนเข้าโรงพยาบาล เธอมีประวัติใช้บริการคาราโอเกะแห่งหนึ่ง ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ลักลอบเปิดในช่วงล็อกดาวน์



          หญิงคนนี้มีถิ่นพำนักถาวรถูกต้องตามกฎหมายของลาว อาศัยอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ เข้ารับการรักษาที่โรงหมอเสดถาทิลาด ในนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 ด้วยอาการป่วยเพียงเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว คณะแพทย์พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อช่วยเหลือ แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด



         ในช่วง 24 ชั่วโมง ลาวพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 69 คน ผู้ป่วยรายใหม่พบที่แขวงบ่อแก้วมากที่สุด 46 คน นครหลวงเวียงจันทน์ พบผู้ป่วย16 คน แขวงสะหวันนะเขต พบผู้ป่วย 4 คน และที่แขวงจำปาสัก พบผู้ป่วยอีก 3 คน ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 1,302 คน ขณะที่ ตัวเลขคนหายป่วยอยู่ที่ 232 คน

ข่าวทั้งหมด

X