วันนี้ (7 พ.ค.64) ตัวแทนจากบริษัทไฟเซอร์เดินทางไปที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมประชุมหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข , นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์นคร เปรมศรีผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เกี่ยวกับการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาให้บริการกับประชาชน
โดยหลังการหารือร่วมกันกว่า 1 ชั่วโมง นายอนุทิน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการพูดคุยร่วมกัน เพื่อพิจารณาข้อตกลงเบื้องต้นระหว่าง 2 ฝ่าย หากยอมรับเงื่อนไขระหว่างกัน วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ จะมาถึงประเทศไทยระหว่างไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ในจำนวนที่หารือกันไว้ คือ 10-20 ล้านโดส โดยทางผู้ผลิตยืนยันว่า จะนำวัคซีนมาขึ้นทะเบียนภายหลังบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว รวมทั้งบริษัทไฟเซอร์ยังยืนยันว่า การหารือขณะนี้ จะทำกับฝ่ายรัฐเท่านั้น หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องการพูดคุยกับเอกชน แต่ต้องให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทไฟเซอร์ เพราะมีข้อมูลจากทางบริษัท ว่าสามารถให้วัคซีนกับเยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ นอกจากนั้น ยังได้รับการยืนยันว่า การเก็บรักษา สามารถใช้อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ เพียงแต่ระยะเวลาการเก็บรักษาจะสั้นลง โดยหากบริษัทไฟเซอร์และกระทรวงสาธารณสุขของไทยบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ก็จะได้วัคซีนจากไฟเซอร์มาฉีดให้กับเยาวชน ครอบคลุมจำนวนผู้ได้รับวัคซีนมากขึ้น รวมทั้งทาง อย.ให้ความมั่นใจว่า หากไฟเซอร์นำวัคซีนมาขอขึ้นทะเบียน ก็จะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด และย้ำว่า รัฐบาลไม่เคยเตะถ่วงเรื่องการจัดหาวัคซีน ที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้เกิดการนำเข้าวัคซีนอยู่ตลอด และเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนต่อเนื่อง ล่าสุด ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือเรื่องการใช้พื้นที่ของจุฬาฯ เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้นักศึกษาและบุคลากรของสถาบัน ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุน ผลักดันการให้บริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายอนุทิน ยังโพสต์เฟซบุ๊กด้วยว่า ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ หากมีความพร้อมด้านการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทย แบบกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมรับข้อเสนอและพร้อมให้ความร่วมมือ