วันนี้ (7 พ.ค.64) มีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกัน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกมาก และจะเข้าสู่ฤดูฝนเร็ว โดยในช่วงสัปดาห์หน้า หรือช่วงวันที่ 11-12 พฤษภาคม ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนใหญ่ในภาคเหนือและภาคกลางตอนบน เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวขึ้นบริเวณอ่าวเบงกอล แล้วก่อตัวเป็นพายุไซโคลน เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยทางฝั่งตะวันตก ลักษณะแบบนี้จะทำให้มีฝนตกหนักจนอาจจะเกิดน้ำท่วมได้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้ ยังมีฝนน้อย
จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม ฝนจะทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขาดแคลนน้ำทำการเกษตร โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน แต่หลังจากนั้น ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ไปจนถึงเดือนกันยายน จะมีฝนเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ จนอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง จนกระทั่งเดือนตุลาคม ฝนเริ่มลด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจะเริ่มอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าประเทศไทยอีก 2-3 ลูก ดังนั้น ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จึงต้องเฝ้าระวัง
กรมชลประทาน จึงได้เตรียมวางแผนรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 447 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้งาน ประมาณ 36,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่าง และยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึงกว่า 39,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานได้จัดแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งกำหนดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อจัดสรรบุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ไปช่วยเหลือประชาชน โดยจะกระจายทรัพยากรเหล่านี้ให้ทั่วถึง พร้อมยืนยันว่า กรมชลประทานจะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ที่เสี่ยงจะประสบอุทกภัย เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้รวดเร็วที่สุด
สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2564 กรมชลประทานวางแผนจะกักเก็บน้ำฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยน้ำที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ช่วงนี้ จะมุ่งใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำในเขื่อนหรือในอ่างเก็บน้ำจะเป็นส่วนเสริมเท่านั้น มีเป้าหมายคือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศจะต้องเพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น บริหารจัดการน้ำท่าลุ่มน้ำย่อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยระบบและอาคารชลประทาน ที่สำคัญคือ ต้องกักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุดเพื่อความมั่นคงในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ
ส่วนแผนป้องกันและรับมืออุทกภัยที่จะเกิดขึ้น กรมชลประทานได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากและพื้นที่เกษตรที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยเบื้องต้นมีพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 22 จังหวัด กรมชลประทานจะจัดสรรเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ จำนวน 5,935 หน่วย ไปติดตั้งในพื้นที่และจัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง โดยคิกออฟปล่อยขบวนรถเครื่องจักรเครื่องสูบน้ำต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ยังเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและวัชพืชต่างๆ เพื่อให้การระบายน้ำสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมกับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์
ส่วนในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงเมษายน 2564 มีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำชั่วคราว 56 จังหวัด กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และจัดรถส่งน้ำเข้าไปให้เกษตรกรและประชาชน รวม 12 ล้านลิตร รวมทั้งซ่อมแซมฝายต่างๆ เพื่อการกักเก็บน้ำ จนสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งเป็นไปตามแผน ไม่ส่งผลกระทบกับเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งยังสามารถจ้างงานเกษตรกร เข้ามาทำงานในภาคชลประทานได้ถึง 63,088 คน
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอบคุณกรมชลประทานและทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมมือกันฟันฝ่าสถานการณ์ภัยแล้งจนผ่านพ้นมาได้ด้วยดี พร้อมระบุว่า ประเทศไทย ถ้าไม่น้ำท่วมก็น้ำแล้ง ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน สิ่งสำคัญ คือการกักเก็บน้ำไว้สำหรับหน้าแล้ง ซึ่งปีนี้ คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมาก คล้ายกับปี 2551 แต่ปัจจุบัน มีเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ มีอ่างเก็บน้ำมากขึ้น จึงเชื่อว่าจะสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้น และสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าเดิม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำท่า กระจายสู่ลุ่มน้ำย่อย จะช่วยในการกักเก็บน้ำอีกทางหนึ่ง
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในฤดูฝนปีนี้ ขอให้สำนักชลประทานในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด วิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่ของตัวเอง และวางแผนบริหารจัดการให้เหมาะสมกับพื้นที่ตัวเอง ที่สำคัญคือ จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชน ให้รับทราบข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศ กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างมาก แต่สิ่งที่จะเป็นความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ประเทศเดินหน้า คือ ภาคการเกษตร และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับภาคการเกษตร ก็คือน้ำ ดังนั้นจึงขอให้กรมชลประทานและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับแก้ปัญหาและบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เพื่อในเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง แม้ว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ยังจะไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ก็ยังมีภาคการเกษตรที่จะเป็นตัวสำคัญในการผลักดันประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับฝากเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในกรมชลประทาน ให้ดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อจะได้มีกำลังในการทำงานเพื่อประเทศอย่างเต็มที่