มหาวิทยาลัยอาซิม เปรมจี ในบังกาลอร์ รายงานผลการศึกษาที่พบว่า โควิด-19 ทำให้ชาวอินเดียราว 230 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนในปีที่แล้วโดยกลุ่มเยาวชนและผู้หญิงได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งนายอามิด บาโซล หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวว่า การระบาดระลอกที่ 2 ในปัจจุบันทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม
ในรายงานระบุว่า การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ทำให้ชาวอินเดียประมาณ 100 ล้านคนต้องออกจากงาน รายงานซึ่งอ้างอิงข้อกำหนดที่ว่า ผู้ที่อยู่ในความยากจนคือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 375 รูปี (5 ดอลลาร์สหรัฐ, ประมาณ 156 บาท) ต่อวัน ระบุด้วยว่า แม้โดยทั่วไปทุกครัวเรือนจะมีรายได้ลดลง แต่ในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า โดยร้อยละ 20 ของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด ไม่มีรายได้เลยในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ขณะที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
การประกาศมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้วทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของผู้ใช้แรงงานซึ่งพวกเขาวางแผนที่จะเดินทางกลับมาเมื่อธุรกิจกลับมาดำเนินการอีกครั้ง แต่กลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปีจำนวน 1 ใน 3 ยังไม่มีงานทำ และคาดว่าจะว่างงานต่อไปจนถึงปลายปีนี้(2564)
ผู้นำเสนองานวิจัยระบุด้วยว่า เนื่องจากการระบาดระลอกที่ 2 มีความรุนแรงมากจนระบบการรักษาพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ ประชาชนหลายล้านคนมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงกว่าเดิม จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนเพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงปีแรกและแนวโน้มของผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 2 โดยแนะนำให้รัฐบาลขยายมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจนและเปิดตัวโครงการจ้างงานในเขตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
...