การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ 2019 หรือโควิด-19 นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้จะมีการแพร่ระบาดในสายพันธุ์ อังกฤษ แอฟริกา และบราซิล แต่สิ่งที่ทางการแพทย์กังวล โดยเฉพาะในสายพันธุ์บราซิล กลับไม่ใช่อาการรุนแรง หรือแพร่เชื้อเร็ว แต่กังวลเรื่องความสามารถใหม่ของไวรัส ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหลังจากเคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน จึงทำให้คนที่เคยป่วยและมีภูมิคุ้มกัน อาจกลับมาติดเชื้อซ้ำ แต่เมื่อติดแล้ว พบว่าความรุนแรงของโรคไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์อังกฤษ จึงทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ช้า ปริมาณเชื้อในร่างกายจึงไม่เพิ่มมากเหมือนสายพันธุ์อังกฤษ ทำให้เมื่อมีเชื้อไม่เยอะ ความรุนแรงของอาการจึงไม่มากเท่า สายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งสายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นแบบนี้เช่นกัน
ดังนั้นเวลานี้ สายพันธุ์ที่น่ากลัวที่สุด คือ สายพันธุ์อังกฤษที่กำลังระบาดในไทย เพราะการแพร่เชื้อเร็ว ทำให้ปริมาณเชื้อในร่างกายมีมาก ภูมิคุ้มกันของคนไม่แข็งแรงจะต่อสู้ยาก จึงทำให้มีอาการหนักกว่า
แต่หากมีสายพันธุบราซิลและแอฟริการะบาดในไทย สิ่งแรกที่ภาครัฐต้องทำคือ ต้องบอกให้ประชาชนทราบก่อน และระหว่างนี้ที่ยังไม่มีการระบาดของสองสายพันธุ์ในไทย ก็พยายามฉีดวัคซีนตัวที่มีให้ได้มากที่สุด เพราะแอสตราเซเนกา ยังพอรับมือได้ ขณะเดียวกัน ต้องนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้มีหลากหลาย ซึ่งพบว่า โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และไฟเซอร์ รวมทั้ง สปุตนิกวี รับมือได้ แต่สิ่งสำคัญสุด ที่ยังคงต้องเข้มงวดเช่นเดิม คือการสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง ลดการรวมกลุ่ม เป็นการรับมือดีที่สุด
สำหรับสายพันธุ์บราซิล ที่พบในสถานกักกันโรค พบจากหญิงไทย 1 คน ที่เดินทางกลับจากฝรั่งเศส ซึ่งรักษาหายแล้ว ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่พบ ในสถานกักกันจำนวน 6 คน รักษาหายแล้วเช่นกัน ดังนั้นเวลานี้ จึงยังไม่มีสองสายพันธุ์นี้ ระบาดกันเองในประเทศไทย