ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม 2564

06 พฤษภาคม 2564, 12:24น.


ศบค.จับตาคลัสเตอร์ชุมชนบ้านขิง เขตบางแค ติดเชื้อแล้วหลายราย



          วันนี้ยอดผู้หายป่วยจากโควิด-19 มากกว่ายอดผู้ป่วยรายใหม่ โดยยอดผู้ที่หายป่วยวันนี้มีถึง 2,435 คน แต่ผู้ป่วยที่อาการหนักยังมีถึง 1,073 คน ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ  356 คน  



          สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด คือ 739 คน โดย 10 เขตที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ ห้วยขวาง  ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ  บางแค   



         ส่วนชุมชนที่พบการระบาดอย่างมากในขณะนี้ คือ ชุมชนคลองเตย ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน และชุมชนบ้านขิง เขตบางแค



         สำหรับชุมชนบ้านขิง เขตบางแค มีการเข้าไปตรวจในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. , 30 เม.ย.  และ 1 พ.ค.64  ไปตรวจคัดกรองเชิงรุก 1,413 คน พบผู้ติดเชื้อถึง 68 คน อีกกลุ่มเป็นผู้ติดเชื้อในท่าปล่อยรถเมล์ ที่มีพนักงานประมาณ 100 คน  พบเชื้อรวมกว่า 70 คน  ซึ่งหลายรายมีบ้านอยู่ในชุมชนบ้านขิง ทำให้มีการไปคัดกรองเชิงรุกที่ชุมชนบ้านขิง ก็พบผู้ติดเชื้ออีกหลายราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งคัดกรองเชิงรุก คัดแยกผู้ป่วยไปรักษา และแยกผู้สัมผัสเสี่ยงไปกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 



องค์การเภสัชกรรม รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ประเทศจีน อีก 1 ล้านโดส



         นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำนวน 1,000,000 โดส จากประเทศจีน ที่ขนส่งโดยสายการบิน Air China Airline เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร เดินทางมาถึงไทยที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เวลา 05.35 น. เมื่อเช้านี้  



        สำหรับการรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จากประเทศจีนในครั้งนี้เพิ่มอีกจำนวน 1,000,000 โดส มีการบรรจุในตู้ Envirotainer ระบบ Cold Chain ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษในการควบคุมอุณหภูมิของสินค้าในกล่อง ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ จำนวน 6 ตู้ 27 พาเลท



        หลังจากที่ก่อนหน้านี้นำเข้ามาแล้ว 2,500,000 โดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน จำนวนทั้งสิ้น 3,500,000 โดส



        วัคซีนทั้งหมดนี้จะขนส่งไปจัดเก็บที่คลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศา ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด จากนั้นองค์การฯ จะดำเนินการตรวจรับวัคซีนและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ เมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรค ตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการและสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่ทางกรมควบคุมโรคกำหนดต่อไป



        วัคซีนซิโนแวคนี้จะมีการส่งมอบมาอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 14 พ.ค.64 จะเข้ามาอีกจำนวน 500,000 โดส จากการบริจาคของประเทศจีน และสิ้นเดือนจะเข้ามาอีก จำนวน 2,000,000 โดส จากการจัดซื้อโดยองค์การเภสัชกรรม



หาเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ค้า 300 คนที่ตลาดห้วยขวาง



        สำนักอนามัย และสำนักงานเขตห้วยขวาง ร่วมกับรพ.เกษมราษฎร์ ตั้งจุดคัดกรองเชิงรุก(swab) เฉพาะกลุ่มเสี่ยง​สูงในตลาดห้วยขวาง(ผู้ค้า) จำนวน 300 คน ที่สนามกีฬาห้วยขวาง เขตดินแดง หลังจากที่ตรวจพบว่ามีลูกจ้างชาวเมียนมา 2 คน ที่เขียงขายหมูในตลาดห้วยขวาง ติดเชื้อโควิด-19 จึงมีการนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นนายจ้างไปตรวจหาเชื้อและคัดกรองเชิงรุกกลุ่มผู้ค้าในตลาดตั้งแต่เช้าจนถึงเวลา 16.00 น.





          ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ระบุว่า ช่วงบ่ายนี้จะมีการคัดกรองอีก 300 คน เป็นคนที่กักตัวครบ 14 วันแล้ว ส่วนวันที่ 8 พ.ค.64 เป็นการคัดกรองให้กลุ่มคนต่างด้าว 



         น.ส.ศศิชา ทับทิม ผู้อำนวยการเขตดินแดง กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการคัดกรองในพื้นที่ด้านแฟลตดินแดง ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดและสถานที่อีกครั้ง




แคนาดา อนุญาตให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12 ถึง 15 ปี




        กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา อนุญาตให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 12 ถึง 15 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้ใช้กับกลุ่มบุคคลที่มีอายุน้อย และมีการสั่งซื้อวัคซีนจำนวนหลายสิบล้านโดส ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสั่งซื้อวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า



        นางสุปรียา ชาร์มา ที่ปรึกษาอาวุโสของกระทรวง ระบุว่า วัคซีนนี้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ในกลุ่มอายุน้อย แต่บริษัทไฟเซอร์ซึ่งมีการทำงานร่วมกับไบโอเอ็นเทค เอสอี จากเยอรมนีจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ประสิทธิภาพและคุณภาพของวัคซีนในกลุ่มอายุ 12 ถึง 15 ปี

        โดยในปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ติดเชื้อในแคนาดาจำนวน 1,249,950 คน เป็นคนที่มีอายุน้อยกว่า 19 ปี และแคนาดา มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 24,396 ราย



องค์การอนามัยแพนอเมริกา เตือนผู้ติดเชื้อโควิดอายุน้อยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแผนกผู้ป่วยหนัก



        นางคาริสซา เอฟ. อีเธน อำนวยการองค์การอนามัยแพนอเมริกัน (the Pan American Health Organization : PAHO) และผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกาขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในภูมิภาคอเมริกาพบการติดเชื้อในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการละเลยมาตรการป้องกัน นอกจากนี้จากเดิมที่เคยมีการระบุว่าเป็นกลุ่มที่มักจะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยแต่ในเวลานี้กลับเป็นกลุ่มหลักของแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาล



        โดยในบราซิล พบอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 39 ปีเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่าจากเมื่อเดือนธันวาคม, เพิ่มเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีและเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป



         ส่วนที่ชิลี อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ที่อายุต่ำกว่า 39 ปีเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 และในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้ที่มีอายุประมาณ 20 ปีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มผู้ที่มีอายุ 70 ปี



         นางอีเธน กล่าวในระหว่างการประชุมทางไกลจากวอชิงตันว่าแม้ว่าจะมีการระบาดมานานกว่า 1 ปี แต่ความพยายามในการควบคุมโรคระบาดก็ยังไม่มีความเข้มงวดและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ทั้งที่มีตัวอย่างให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ นั่นคือการแพร่ระบาดที่กลับมารุนแรงกว่าเดิม นำไปสู่ระบบการแพทย์ที่ตกอยู่ในสภาพเหมือนกับถูกน้ำท่วมและการเสียชีวิตจำนวนมาก 



         นอกจากนี้ หลายประเทศในภูมิภาคต่างก็รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะที่โคลอมเบีย มีผู้ป่วยรายสัปดาห์สูงกว่าปีที่แล้วถึง 5 เท่า แม้ว่าจะมีการประกาศโครงการฉีดวัคซีนแต่ก็มีอุปสรรคในทางปฏิบัติเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัคซีน  



องค์การการค้าโลก เรียกร้องให้มีการเข้าถึงวัคซีนโควิดอย่างเป็นธรรม



         นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือดับเบิ้ลยูทีโอ ยืนยันว่า ประเทศต่างๆจำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกันได้อย่างไร เพราะนโยบายวัคซีนก็คือนโยบายทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ไม่สามารถดำเนินไปอย่างยั่งยืน หากไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน การรักษาและการวินิจฉัยได้อย่างเท่าเทียมกัน



         แอฟริกาใต้และอินเดีย ยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การการค้าโลกมานานหลายเดือน ขอให้ยกเลิกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการชั่วคราวสำหรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเพิ่มการผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา แต่ถูกคัดค้านจากบริษัทยาและประเทศร่ำรวย ที่ยืนยันว่า สิทธิบัตรไม่ใช่อุปสรรคหลักในการขยายการผลิตและเตือนว่าการยกเลิกการคุ้มครองสิทธิบัตรจะเป็นการขัดขวางนวัตกรรม



         นายคีธ ร็อคเวลล์ โฆษกองค์การการค้าโลก กล่าวว่า แม้การประชุมครั้งนี้จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ทุกฝ่ายมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพของวัคซีน ตลอดจนการสร้างความเท่าเทียมกันของกระบวนการจัดจำหน่าย โดยผู้แทนจากมากกว่า 40 ประเทศมีความเห็นพ้องกันว่าวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้ยังไม่เพียงพอ แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่ดีที่สุดในการเพิ่มการผลิตยังมีความแตกต่างกัน บรรยากาศในการประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มากกว่าระหว่างการประชุมในครั้งก่อน



สหรัฐฯและธนาคารโลก สนับสนุนการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม



         รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว ตามแนวทางที่แอฟริกาใต้และอินเดียนำเสนอต่อองค์การการค้าโลก เพื่อเพิ่มการผลิตวัคซีนท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น นางแคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยอมรับว่า กระบวนการการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก องค์การการค้าโลก มีรูปแบบการทำงานที่สำคัญคือต้องมีการลงมติเป็นเอกฉันท์



         ด้านนายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยที่มีการกักตุนวัคซีนโควิด-19 ไว้จำนวนมาก แบ่งปันวัคซีนส่วนเกินไปให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และยกเลิกการควบคุมส่งออกวัคซีนเพื่อให้มีการกระจายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ ทั้งเปิดเผยผลการดำเนินโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อจัดซื้อวัคซีนจนถึงขณะนี้สามารถจัดหาวัคซีนเพื่อแจกจ่ายให้กับ 18 ประเทศและมีเป้าหมายที่จะขยายไปยัง 50 ประเทศภายในกลางปีนี้

ข่าวทั้งหมด

X