องค์การการค้าโลก เรียกร้องให้มีการเข้าถึงวัคซีนโควิดอย่างเป็นธรรม

06 พฤษภาคม 2564, 06:35น.


          นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือดับเบิ้ลยูทีโอ กล่าวเรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการสละสิทธิ์สิทธิบัตรวัคซีน



          โดยในการประชุมสภาสามัญองค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานตัดสินใจขององค์การ นางโอคอนโจ-อิเวียลา กล่าวว่า วิธีที่องค์การการค้าโลกจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมีความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง และการเข้าถึงเครื่องมือในการต่อสู้กับการระบาดอย่างเท่าเทียมกัน คือประเด็นทางศีลธรรมและเศรษฐกิจ



          แอฟริกาใต้และอินเดียยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การการค้าโลกมานานหลายเดือน ขอให้ยกเลิกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการชั่วคราวสำหรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเพิ่มการผลิตในวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งถูกคัดค้านจากบริษัทยาและประเทศร่ำรวยซึ่งยืนยันว่าสิทธิบัตรไม่ใช่อุปสรรคหลักในการขยายการผลิต และเตือนว่าการยกเลิกการคุ้มครองสิทธิบัตรจะเป็นการขัดขวางนวัตกรรม



อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ นางโอคอนโจ-อิเวียลา ไม่ได้แสดงจุดยืนว่าควรสละสิทธิ์หรือไม่ แต่ยืนยันว่าประเทศต่างๆจำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกันได้อย่างไร เพราะนโยบายวัคซีนก็คือนโยบายทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่สามารถดำเนินไปอย่างยั่งยืน หากไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน การรักษาและการวินิจฉัยได้อย่างเท่าเทียมกัน



          นายคีธ ร็อคเวลล์ โฆษกองค์การการค้าโลก กล่าวว่า แม้การประชุมครั้งนี้จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ทุกฝ่ายมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพของวัคซีน ตลอดจนการสร้างความเท่าเทียมกันของกระบวนการจัดจำหน่าย โดยผู้แทนจากมากกว่า 40 ประเทศมีความเห็นพ้องกันว่าวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้ยังไม่เพียงพอ แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่ดีที่สุดในการเพิ่มการผลิตยังมีความแตกต่างกัน เขากล่าวว่าบรรยากาศในการประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มากกว่าระหว่างการประชุมในครั้งก่อน นอกจากนี้ ทั้งอินเดียและแอฟริกาใต้ผู้เสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมได้รับที่จะกลับไปแก้ไขข้อเสนอของพวกเขาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมในสัปดาห์หน้าพร้อมกับแนวทางที่มีความประนีประนอมที่เป็นไปได้มากขึ้น โดยการประชุมครั้งต่อไปอาจมีขึ้นในปลายเดือนนี้ (พ.ค.) จากนั้นจะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการในต้นเดือนมิถุนายน



....

ข่าวทั้งหมด

X