สหรัฐฯ แถลงนอกรอบประชุมG7หวังเกาหลีเหนือใช้วิธีทางการทูต หาทางปลดอาวุธนิวเคลียร์
เวทีการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 ครั้งย่อยที่กรุงลอนดอน ของอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 3-5 พ.ค.64 โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทั้งมีการตรวจหาเชื้อและมีฉากกั้นระหว่างการประชุม
อังกฤษ ในฐานะประธานกลุ่ม หวังว่าการประชุม G7 ครั้งย่อยนี้จะช่วยให้มีความคืบหน้าที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูโลก หลังการระบาดของโควิด-19 ก่อนถึงการประชุมผู้นำจี 7 ที่คอร์นวอลล์ ของอังกฤษ ในเดือนมิ.ย.64
นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงระหว่างการประชุมนอกกรอบ G7 ร่วมกับนายโทชิมิตสุ โมเตกิ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น แสดงความหวังว่า เกาหลีเหนือจะใช้วิธีทางการทูต เป็นแนวทางการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีเนื่องจากไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือ ประกาศว่า คำแถลงการณ์ใดๆ ของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเป็นนโยบายเชิงปรปักษ์
อย่างไรก็ตาม นายจาง จุน เอกอัครราชทูตถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้แสดงความเห็นว่าสหรัฐฯ ควรเจรจามากกว่ากดดันเกาหลีเหนือ เพราะจากหลายปีที่ผ่านมา จีนเชื่อว่าความพยายามทางการทูตเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะหันกลับมาเจรจากัน
นอกจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ อย่าง แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป แล้ว ที่ประชุมยังเชิญออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมเป็นครั้งแรกในฐานะแขกรับเชิญ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่อังกฤษมุ่งกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น
ทีมอินเดีย กักตัว ร่วมประชุมG7ทางออนไลน์
กลายเป็นความวุ่นวายเมื่อตัวแทนนักการทูตอินเดีย เกิดปัญหาใกล้ชิดผู้ติดโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าร่วมการประชุม G7 แบบพบหน้าครั้งแรกในอังกฤษ เนื่องจาก พบว่ามีสมาชิก 2 คนของฝ่ายอินเดียมีผลการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ตัวแทนนักการทูตอินเดีย สมัครใจที่จะยอมกักตัวเองและเข้าร่วมการประชุมทางออนไลน์แทน
นายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ยืนยันข่าวนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ พร้อมทั้งระบุว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อด้วย จึงจะเข้าร่วมการประชุมแบบออนไลน์
ซาอุฯ พิจารณาในปีนี้อาจจะห้ามต่างชาติไปร่วมพิธีฮัจญ์
รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย กำลังพิจารณาประกาศห้ามนักแสวงบุญชาวมุสลิมจากทั่วโลก เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปีอีกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังน่าวิตก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์แบบใหม่จำนวนมาก
พิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะในปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างเย็นวันเสาร์ที่ 17 ก.ค. 64 จนถึงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ค. 64 จะจำกัดเฉพาะชาวซาอุฯ และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย แต่ทุกคนต้องผ่านการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว หรือหายป่วยจากการติดเชื้ออย่างน้อย 6 เดือน ก่อนเข้าร่วมพิธี
เมื่อเดือน ก.พ.64 รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย สั่งไม่ให้พลเมืองของ 20 ประเทศ เดินทางเข้าซาอุฯ ยกเว้นเจ้าหน้าที่การทูต พลเมืองซาอุฯ บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัว ส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยคำสั่งห้ามซึ่งยังมีผลบังคับจนถึงขณะนี้ รวมถึงพลเมืองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส อียิปต์ เลบานอน อินเดีย และปากีสถาน
ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในแต่ละปีจะมีชาวมุสลิมจากทั่วโลก ประมาณ 2,500,000 คน เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่เมืองเมกกะและเมืองเมดินา รวมทั้งพิธีอุมเราะห์ ที่สามารถประกอบพิธีได้ตลอดทั้งปี ทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีรายได้เฉลี่ยปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 373,572 ล้านบาท
ผู้ว่าฯ 9 คน เสนอยกเลิก หรือ เลื่อนจัด โตเกียวโอลิมปิก 2020
อนาคตของโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น ในเวลานี้ ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด ก่อนที่จะมีพิธีเปิดเดือนก.ค.64 นี้
ไมนิจิ ชิมบุน ส่งแบบสอบถามไปให้กับทุกคนเมื่อวันที่ 20 เม.ย.64และได้รับคำตอบจากผู้ว่าฯราชการทั้ง 47 จังหวัด ภายในวันที่ 28 เม.ย.64 โดยในคำถามระบุว่า ต้องการยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไป นอกเหนือ จากผู้ว่าฯ 9 คน ที่ต้องการให้ยกเลิก มีผู้ว่าฯอีก 5 คนเลือกคำตอบที่ว่า ไม่ทราบ แต่ไม่มีคนใดเลือกคำตอบ ทางเลือกอื่น
ในจำนวนผู้ว่าฯที่แสดงความเห็น ว่าต้องการยกเลิกการจัดการแข่งขัน พบว่า จังหวัดไซตามะ จังหวัดชิซูโอกะ จังหวัดยามานาชิ นั้น เป็นเจ้าภาพร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พื้นที่ระบาดหนักมากที่สุด ได้แก่ โตเกียว โอซากา เฮียวโงะ และเกียวโต และกำลังอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐบาลโตเกียว กำลังพิจารณาว่าจะขยายเวลาออกไปหรือไม่ โดยระยะเวลาสิ้นสุดอยู่ที่วันที่ 11 พ.ค.64
คุณยาย ทานากะ วัย 118 ปี ขอถอนตัวไม่วิ่งคบเพลิง
คุณยายคาเนะ ทานากะ คุณยายชาวญี่ปุ่น วัย 118 ปี ซึ่งครองสถิติบุคคลอายุยืนที่สุดในโลก ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งคบเพลิงโตเกียวโอลิมปิก 2020 เนื่องจากกังวลความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ซึ่งคุณยายอาศัยอยู่ เปิดเผยว่า คุณยายทานากะ ซึ่งได้รับการรับรองจากกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ด ให้เป็นบุคคลผู้มีอายุยืนที่สุดในโลกตอนนี้ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่จังหวัดฟุกุโอกะ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 พ.ค.64 ขอถอนตัวจากกิจกรรมนี้ เนื่องจากทั้งคุณยายและครอบครัว กังวลว่าจะนำเชื้อโควิด-19 กลับมาแพร่ที่สถานสงเคราะห์
การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.64 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคณะกรรมการจัดงานของโตเกียวโอลิมปิก 2020 ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ 2 พ.ค.64 ว่ามีผู้เข้าร่วมติดโควิด-19 อีก 6 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อจากกิจกรรมนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 คน
บุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคนในญี่ปุ่นได้ประกาศถอนตัวจากการวิ่งคบเพลิงแล้วเช่นกัน โดยอ้างเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัย
มาเลย์ฯ ยกระดับคุมโควิดในกรุงกัวลาลัมเปอร์อีกครั้ง
สถานการณ์ในมาเลเซียยังไม่ดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย รายงาน ว่าพบผู้ป่วยรายใหม่ 3,744 คน ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 424,376 คน รักษาหายแล้ว 389,846 คน เพิ่มขึ้น 2,304 คน และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 17 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,591 ราย
ทำให้รัฐบาลมาเลเซีย ยกระดับควบคุมโควิด-19 มีมติให้กรุงกัวลาลัมเปอร์ ปฎิบัติตามมาตรการควบคุมทางสังคมครั้งใหม่ ระหว่างวันที่ 7-30 พ.ค.64 มาตรการส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม รวมถึงการห้ามเดินทางระหว่างเมือง และการห้ามให้บริการรับประทานอาหารในร้าน อนุญาตให้จำหน่ายแบบกลับบ้านเท่านั้น
อินโดฯ ดำเนินคดี บริษัทยา ใช้อุปกรณ์ทดสอบโควิดซ้ำ
ตำรวจอินโดนีเซีย จับกุมและดำเนินคดีพนักงานหลายคนของบริษัทคีเมีย ฟาร์มา (Kimia Farma) บริษัทยาของอินโดนีเซีย เนื่องจากนำอุปกรณ์ทดสอบโควิด-19 ชนิดตรวจโพรงจมูก (nasal swab test kits) กลับมาใช้ซ้ำ คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธ.ค.63 และมีผู้โดยสารมากถึง 9,000 คน ที่สนามบินกัวลานามูในเมืองเมดาน ตกเป็นผู้เสียหาย
ทางสนามบินไม่ได้เปิดเผยว่าพบการทุจริตนี้ได้อย่างไร แต่การดำเนินคดีบริษัทคีเมีย ฟาร์มาร์ มีขึ้นในนามของกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินในเมืองทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา โดยมีทนายความ 2 คนที่เดินทางผ่านสนามบินกัวลานามู หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เปิดเผยว่าพวกเขาวางแผนที่จะฟ้องบริษัทคีเมีย ฟาร์มาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้โดยสารรายละ 1,000 ล้านรูเปียห์
ทางการอินโดนีเซีย มีข้อกำหนดว่า ผู้โดยสารเครื่องบินจะได้รับอนุญาตให้เดินทางหากมีผลการทดสอบเชิงลบ และสนามบินสามารถจัดให้มีการทดสอบให้เสร็จในสถานที่ได้ จึงมีการใช้ชุดทดสอบแอนติเจนอย่างรวดเร็วที่บริษัทคีเมีย ฟาร์มา เป็นผู้จัดหา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพนักงาน 5 คนของบริษัทรวมถึงผู้จัดการถูกตำรวจจับกุม และถูกตั้งข้อสงสัยว่าละเมิดกฎหมายด้านสุขภาพและผู้บริโภคด้วยการนำไม้เช็ดจมูกที่ใช้งานแล้วไปทำความสะอาดแล้วบรรจุหีบห่อใหม่เพื่อนำมาใช้ซ้ำ
สื่อท้องถิ่น รายงานว่า ตำรวจได้รวบรวมรายงานจากพยาน 23 คนและคาดว่าบริษัททำกำไรจากการหลอกลวงประมาณ 1,800 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 3,894,321 บาท) และนำไปใช้ในการสร้างบ้านของผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง
ด้านบริษัทคีเมีย ฟาร์มา ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงจาการ์ตา เปิดเผยว่า ได้ไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเพิ่มมาตรการควบคุม
จับได้แล้ว ! ชาย 54 ปี แทงหญิงสูงวัยชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 2 คน ในซานฟรานซิสโก
ตำรวจสหรัฐฯ จับชายวัย 54 ปี ชาวเมืองซานฟรานซิสโก ก่อเหตุใช้อาวุธมีดจ้วงแทง หญิงสูงวัยชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 2 คน อายุ 65 ปี และ 85 ปี ได้รับบาดเจ็บ เมื่อช่วงเย็นวันอังคาร 4 พ.ค.64 บนฟุตบาทริมถนน ในย่านมิด-มาร์เก็ต ใจกลางเมืองใหญ่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
ตำรวจ อยู่ระหว่างสอบปากคำและยังไม่สามารถบอกได้ว่าหญิงทั้ง 2 คนเป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ หรือการโจมตีเกี่ยวข้องกับความเกลียดชังเชื้อชาติหรือไม่
ผู้เห็นเหตุการณ์ เปิดเผยว่า ชายต้องสงสัย เดินถือมีดไปที่ป้ายรอรถโดยสารประจำทางและปรี่เข้าจ้วงแทงหญิงเคราะห์ร้ายทั้ง 2 คน โดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนจะเดินหนีไป
ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ตกเป็นเป้าหมายโจมตีทำร้ายบ่อยครั้ง ในเขตซานฟรานซิสโก เบย์ และเมืองอื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ
เมื่อเดือนมี.ค.64 ในเมืองซานฟรานซิสโก ชายชาวเวียดนาม วัย 83 ปี ถูกชกล้มลงกับพื้น ทำให้กระดูกคอเคลื่อน และหญิงเชื้อสายเอเชียวัย 77 ปี ถูกทำร้ายร่างกาย ตำรวจจับกุมชายคนหนึ่ง และตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น และทำร้ายผู้สูงอายุ จากการโจมตีชาวเอเชียสูงวัยทั้ง 2 คน