หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงสถานการณ์รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการเสนอแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิกวี วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่น ๆ ที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยเรามีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีประชาชนมาลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งผ่านเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งของรัฐเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศ มีการจัดลำดับกลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เร่งด่วน พื้นที่เศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เราตั้งเป้าว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามโควิดในครั้งนี้ให้ได้ตั้งแต่มี
การจัดหาและฉีดวัคซีน ได้กำหนดเรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนจัดหาแล้ว 63 ล้านโดส โดย 61 ล้านโดส เป็นของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตในประเทศไทยและจะเริ่มส่งมอบได้แน่นอนในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ทันที 16 ล้านคน นอกจากนั้นในเดือนนี้ เราจะได้รับวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมตามแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้กับบุคลากรด้านหน้า และผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด
นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานให้ที่ประชุมครม.รับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง คือมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ซึ่งการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลลง เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น
ส่วนการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดนั้น มีการสำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอ ยังเหลือในสต็อก 1.5 ล้านเม็ด มีการกระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดในเดือนนี้ เราคงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้มากนัก และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะให้ยาดังกล่าวในขั้นตอนใดได้เพิ่มขึ้นอีก นอกจากจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า นับตั้งแต่การระบาดในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 7 หมื่นคน โดยมีการรักษาหายแล้วมากกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งเป็นความสามารถของทีมแพทย์ไทย ที่อยู่ในเกณฑ์ระดับโลก เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วย และในกรณีโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทุกรายการ
ภาพ:ทำเนียบรัฐบาล