ธรรมนัสรอด!ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่พ้นสภาพ สส.-รมต. ชี้คำสั่งศาลต่างประเทศไม่ส่งผลศาลไทย

05 พฤษภาคม 2564, 15:52น.


          ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์  สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ 



          โดยศาลรัฐธรรมนูญ ว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดประเด็นวินิจฉัย คือ



1.สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงหรือไม่ นับแต่เมื่อใด



2. ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หรือไม่ นับแต่เมื่อใด 



         โดยศาลเห็นว่า ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ร.อ.ธรรมนัส รับว่าเคยต้องคำพิพากษาว่า กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งมีข้อที่ต้องพิจารณาว่าข้อที่ว่าเคยต้องคำพิพากษา หมายความถึงความพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่



          ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ระบุถึงอำนาจอธิปไตย ซึ่งหมายถึงอำนาจอธิปไตยคือมีความเด็ดขาดสมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติของรัฐอื่น การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ย่อมไม่ตกอยู่ในอาณัติหรืออำนาจของตุลาการรัฐอื่น ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ การตีความคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลไทยจึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว เพราะตามหลักอธิปไตยของรัฐ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษารัฐใดก็จะมีผลในรัฐนั้น



          “หากตีความว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศ และขัดกับหลักการต่างตอบแทน คือศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ”

ข่าวทั้งหมด

X