ครม.พิจารณามาตรการลดผลกระทบจากโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ซึ่งจากเดิมจะใช้ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 เนื่องจากมีแม่บ้านในทำเนียบรัฐบาล ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 และบางรายปฏิบัติหน้าที่ภายในตึกบัญชาการ 1 ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมครม.
รอลุ้นมาตรการเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้กระจายไปทั่วประเทศและมีผลกระทบในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมาที่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว เช่น มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เช่น การลดค่าไฟ เป็นเวลา 2-3 เดือน มาตรการการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3
นอกจากนี้ คาดว่า ที่ประชุมจะมีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินสร้างโรงพยาบาลสนาม และเร่งฉีดวัคซีน หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยเป็นจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ที่ต้องเร่งตรวจหาเชื้อเชิงรุก ในพื้นที่โรงงานและชุมชนแออัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
ออกกฎเข้มกลุ่มดิลิเวอรี เพิ่ม 4 ข้อปฏิบัติ สร้างความมั่นใจลูกค้า ลดเสี่ยงโควิด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากที่มีการแชร์ข้อความพาดพิงถึงการระบาดของคลัสเตอร์คลองเตยว่าส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ที่อยู่ในชุมชนประกอบอาชีพหลักคือเป็นพนักงานส่งอาหารดิลิเวอรี และขอให้งดใช้บริการเหล่านี้เพราะอาจส่งผลให้นำเชื้อไปสู่คนอีกครอบครัวหนึ่ง ซึ่งข้อความที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริงดังกล่าวอาจสร้างวิตกกังวลให้กับประชาชนที่ใช้บริการสั่งอาหารจากนอกบ้านได้ โดยเพิ่มการปฏิบัติ 4 ข้อหลักคือ
1.เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19
2.มีการคัดกรองพนักงานรับส่งอาหารอย่างจริงจังทุกวัน
3.มีระบบการติดตามอาการป่วยและพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานโดยอาจเลือกใช้การประเมินผ่านเว็บไซต์ Thai save Thai
4.มีการจัดทำ Timeline ของพนักงานในการจัดส่งอาหารแต่ละวัน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีการแพร่เชื้อโควิด-19 ผ่านอาหาร แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการแบบดิลิเวอรีและประชาชนผู้ใช้บริการจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
1.ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เมื่อไปส่งอาหารให้ลูกค้าขอให้ใช้วิธีการส่งอาหารแบบ Personal distancing ยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น
2.ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบดิลิเวอรี ร้านอาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารปรุงสำเร็จต้องปรุงสุกใหม่ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงสุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 5 นาที หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
3.ผู้ส่งอาหารดิลิเวอรี ต้องลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบดิลิเวอรี สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้านอาหาร ก่อนและหลังการส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้ออาหารด้วย รวมทั้งหลังเข้าห้องส้วม หลังจับสิ่งสกปรก หรือจับเงิน และคอยสังเกตอาการตนเอง หากพบมีความเสี่ยงให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
4.ผู้สั่งซื้ออาหาร หรือผู้บริโภค ให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เมื่อออกมารับอาหาร และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้ เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือหลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน
แกร็บ พร้อมร่วมมือภาครัฐ หากพบคนขับติดเชื้อ-เสี่ยงสูง ปิดระบบทันที
แกร็บ ประเทศไทย ชี้แจงว่า บริษัทได้มีมาตรการในการดูแลด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยของพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารและพัสดุอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
หากบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากหน่วยงานภาครัฐ หรือเมื่อได้รับการติดต่อจากพาร์ทเนอร์คนขับว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง บริษัทฯ จะทำการระงับสัญญาณทันที และจะร่วมมืออย่างเต็มที่กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสอบข้อมูลการเดินทางย้อนหลัง รวมถึงผู้ใช้บริการทุกคนที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ จะทำการเปิดระบบกลับมาอีกครั้ง หากได้รับเอกสารยืนยันผลการตรวจเป็นลบเป็นที่เรียบร้อย
นอกจากนี้ พาร์ทเนอร์ ยังสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อรับเงินชดเชย ซึ่งครอบคลุมถึงค่าตรวจโรคโควิด-19 มูลค่า 500 บาท เงินชดเชยรายได้ 2,000 บาท กรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ และเงินชดเชยรายวัน 500 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 15 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในที่มีสาเหตุจากการติดโรคโควิด-19
ขอให้ผู้ป่วยชาย หายจากโควิดและไม่มีอาการ ช่วยกันบริจาคพาสมา
ศูนย์ข้อมูล Covid-19 รายงานว่า พลาสมาจากผู้บริจาคที่หายป่วยจาก โควิด-19 รอบแรกได้นำไปให้ผู้ป่วยอาการหนักหมดแล้ว ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก รอพลาสมาจากผู้บริจาค
ผู้บริจาคต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว ไม่มีอาการและเป็น “เพศชาย”เนื่องจาก
-มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 มากกว่า และรักษาระดับอยู่ในร่างกายนานกว่าเพศหญิง
-มีเส้นเลือดตรงข้อพับแขนชัดเจนกว่าเพศหญิง
-ความเข้มโลหิต ผ่านเกณฑ์มากกว่าผู้หญิง
-ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของผู้รับมากกว่าเพศหญิง
คุณสมบัติของผู้ป่วยโควิด-19ที่ต้องการบริจาคพลาสมา
1. เพศชาย
2. ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วพำนักอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก
3. รักษาหายแล้วออกจากโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วันและมีผลตรวจเป็นลบแล้ว
4. หรือออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน
5. อายุ 18 ถึง 60 ปี
6. น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กก. ขึ้นไป
7. สุขภาพแข็งแรงดี
ลงทะเบียนออนไลน์เท่านั้น
คลิก https://1th.me/ZJChu
เจ้าหน้าที่จะติดต่อนัดหมายเพื่อคัดกรองในรายละเอียดต่อไป
สอบถามโทร 0 2-256-4300
ด้านศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยเรื่องการใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เนื่องจาก พลาสมาของผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส สามารถนำไปใช้เสริมการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค โดยยับยั้งไวรัสก่อนที่จะเข้าไปทำลายเซลล์ปอดขั้นรุนแรงได้ ซึ่งภูมิต้านทานในพลาสมานี้ เปรียบเสมือนเป็นยาใช้รักษาโรคได้
ฝ่ายค้านอินเดียเรียกร้องรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
พรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักของอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ระดับประเทศอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อโควิดยืนยันสะสมแตะระดับ 20,282,833 คน เสียชีวิตแล้ว 222,408 ราย
นายราหุล คานธี ผู้นำพรรคคองเกรส ระบุว่า ระบบสาธารณสุขล่มสลาย จำเป็นที่จะต้องมีการล็อกดาวน์เพื่อทำลายห่วงโซ่ แต่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ไม่เห็นด้วยเพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ยืนยันว่ามาตรการล็อกดาวน์จะเป็นทางเลือกสุดท้าย นอกจากนี้ในวันอังคาร (4 พ.ค.) อินเดียมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 355,000 คน เป็นจำนวนที่ลดลงจากจำนวนมากกว่า 400,000 คน เมื่อวันที่ 30 เมษายน
ขณะเดียวกันนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และนักการเมืองอาวุโสอีกจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 สัปดาห์
นพ.แอนโทนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติว่าด้วยโรคติดเชื้อและภูมิแพ้ (เอ็นไอเอไอดี) จากสหรัฐฯ กล่าวว่า สถานการณ์ในอินเดียมีความร้ายแรงมาก จำเป็นต้องปิดล็อกทั่วประเทศควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่และการสร้างโรงพยาบาลชั่วคราว ทั้งแนะนำว่า การตัดสินใจออกกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ควรมาจากรัฐบาลของแต่ละรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง โดยในเวลานี้หลายรัฐได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์แล้ว เช่น รัฐพิหารทางตอนเหนือเป็นรัฐล่าสุดที่ประกาศล็อกดาวน์ เต็มรูปแบบ ส่วนที่กรุงนิวเดลีและนครมุมไบ ศูนย์กลางการเงินก็อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่70 %ภายในวันที่ 4 ก.ค.
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเป้าหมายใหม่ของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม หรือวันชาติสหรัฐฯ ประชากรผู้ใหญ่อย่างน้อยร้อยละ 70 จะต้องได้รับวัคซีนเข็มแรก โดยในสัปดาห์หน้า สหรัฐฯจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ถึง 15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่แล้วที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 จนมาถึงประมาณร้อยละ 22 ในปัจจุบัน
ประธานาธิบดีไบเดน ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่เขาหวังว่าทุกคนจะมีความเชื่อมั่น และตระหนักถึงความเสี่ยงจากคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีต่อผู้อื่น โดยเมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ประกาศว่าจะมอบเงินเกือบ 250 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐ ดินแดนและผู้บริหารในเมืองใหญ่เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ภายในกรอบเวลาเดียวกันคือ 4 กรกฎาคม สหรัฐฯ จะแบ่งปันวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 60,000,000 โดส หรือประมาณร้อยละ 10 ที่มีอยู่ในคลังวัคซีนไปให้กับประเทศต่างๆ อาทิ แคนาดา และเม็กซิโก รวมถึง บางประเทศที่กำลังมีการเจรจา ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารยืนยันว่าตัวเลขร้อยละ 10 คือปริมาณที่ฝ่ายบริหารมีความมุ่งมั่นที่จะแบ่งปันกับประเทศอื่น ๆ หากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาออกใบอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีเพิ่มเติมอีกประมาณ 50,000,000 โดสที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตและสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน