ประเด็นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล ในประเทศไทย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า มีการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล ในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันเท่านั้น จากการตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่เริ่มพบสายพันธุ์นี้ในสถานกักกัน แต่ยังไม่พบสายพันธุ์นี้แพร่กระจายในชุมชน
ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชนหลายแห่งของกรุงเทพมหานคร ทำให้เมื่อวานนี้ (4 พ.ค.64) ศบค.ชุดเล็ก จัดทำรายละเอียดคำสั่งเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีการทำงานแบ่งเป็น 5 ฝ่าย คือ
1.ฝ่ายอำนวยการ
2.ฝ่ายปฎิบัติการการตรวจเชิงรุก
3.ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง
4.ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่
5.ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน
โดยมีผู้อำนวยการเขต 50 เขต จะเป็นผู้อำนวยการในระดับเขต ทำงานร่วมกับคณะกรรมการศูนย์ฯ เพื่อส่งต่อข้อมูลด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลการติดเชื้อ การคัดกรองเชิงรุก การบริหารจัดการทรัพยากร การจัดการเตียง การดูแลผู้ติดเชื้อ-ผู้เสี่ยงสูง และแผนกระจายวัคซีน ซึ่งในวันนี้ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ได้รายงานสถานการณ์เข้ามายังศูนย์แล้ว
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน พบการติดเชื้อในชุมชน 6 ชุมชน คือ
-ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ติดเชื้อ 61 คน
-ชุมชนเคหะบ่อนไก่ ติดเชื้อ 14 คน
-ชุมชนโปโล ติดเชื้อ 10 คน
-ชุมชนพระเจน ติดเชื้อ 8 คน
-ชุมชนร่วมฤดี ติดเชื้อ 2 คน
-ชุมชนกุหลาบแดง ติดเชื้อ 1 คน
รวมทั้ง 6 ชุมชน มีผู้ติดเชื้อ 162 คน และทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามแล้ว ส่วนผู้มีความเสี่ยงสูง 304 คน ผลตรวจเป็นลบ แต่ยังต้องกักตัวเพื่อรอดูอาการ โดยสำนักอนามัย จัดถุงยังชีพไปช่วยเหลือและมีอาสาสมัคร หน่วยงานองค์กรต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่แล้ว
ส่วนการบริหารจัดการด้านการส่งต่อผู้ป่วย จะมีศูนย์เอราวัณ และศูนย์สนับสนุนเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ จะดูแลการคัดแยกผู้ป่วยระดับสีต่างๆ แล้วนำผู้ป่วยเข้ากระบวนการรักษาที่เหมาะสมโดยศูนย์เอราวัณ จะเป็นผู้จัดรถรับผู้ป่วยส่งไปโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในวันนี้ (5 พ.ค.64) จะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจเชิงรุกในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ และเคหะบ่อนไก่ คาดว่าจะสามารถคัดกรองทั้ง 2 ชุมชนนี้ได้วันละกว่า 2,000 คน รวมทั้งการคัดกรองในสถานประกอบการพื้นที่ใกล้เคียงอีกวันละกว่า 1,000 คนต่อวัน เช่นเดียวกับเขตคลองเตย ที่กำลังเร่งคัดกรองเชิงรุก รวมทั้งคัดแยกผู้ป่วยเพื่อส่งไปรับการรักษา
และในสัปดาห์นี้ ศบค.ชุดเล็กและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะหารือเกี่ยวกับรายละเอียดการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต มีประมาณ 7,000,000 คน คาดว่า จะสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 60,000 คน