ทันสถานการณ์โลกเวลา 06.30 น.วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2564

05 พฤษภาคม 2564, 06:09น.


ไต้หวัน เจอติดเชื้อโควิดในคลัสเตอร์นักบิน และคลัสเตอร์ในโรงแรมกักกัน



         ไต้หวัน กลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 8 คน จากการติดเชื้อในกลุ่มคลัสเตอร์ 2 กลุ่มใหญ่



-คลัสเตอร์นักบินสายการบินไชน่า แอร์ไลน์ สายการบินใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ทำให้สายการบินไชน่า แอร์ไลน์ (China Airlines) ต้องยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดถึง 24 เที่ยว ภายในวันที่ 15 พ.ค.64  หลังจากนักบินของสายการบินไชน่า แอร์ไลน์ ซึ่งขับเครื่องบินสินค้าติดโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.64 และทำให้ขณะนี้ผลการตรวจยืนยันมีนักบินสายการบินไชน่า แอร์ไลน์ ติดเชื้อโควิด-19 แล้วรวม 12 คน



-คลัสเตอร์โรงแรมโนโวเทล เถาหยวน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ซึ่งใช้เป็นสถานที่กักกันทางเลือก ตามมาตรการป้องกันโควิด-19



          การกลับมาพบการระบาดอีกครั้งเกิดขึ้นหลังจากที่ไต้หวันไม่พบการติดเชื้อเป็นเวลาสองเดือนครึ่ง นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ที่โรงพยาบาลเถาหยวน เมื่อปลายเดือนม.ค.64



          เว็บไซต์เวิลด์โดมิเตอร์ รายงานว่าพบ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไต้หวัน เพิ่มอีก 8 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 1,154 คน ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 75 คน เสียชีวิต 12 ราย



นายกฯ ไต้หวัน ปกป้องรัฐมนตรีสาธารณสุข ต่อให้เป็นเทพก็คุมโควิดไม่ได้



          นายกรัฐมนตรีซู เจินชาง ของไต้หวัน ปกป้องนายเฉิน ฉือจง รัฐมนตรีสาธารณสุข หลังจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีซู กล่าวว่า แม้รัฐบาลใช้ระเบียบเคร่งครัดแต่ก็มีบางคนที่ไม่ปฏิบัติตาม นายเฉิน เพียงคนเดียว ต่อให้เป็นเทพกลับชาติมาเกิด ก็ไม่สามารถไปตรวจสอบทุกแห่งได้พร้อมกันว่าผู้คนปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่ รัฐบาล กำลังพิจารณาว่าจะเข้มงวดมาตรการใดบ้าง



          ด้านนายเฉิน ขอบคุณนายซู พร้อมกับย้ำว่าสิ่งสำคัญในการรับมือกับโรคโควิด-19 คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง และฉีดวัคซีน



สิงคโปร์ พบผู้ป่วยสายพันธุ์อินเดีย รวมอยู่กับคลัสเตอร์ในประเทศ



          ผศ.เคนเนธ แม็ก ผู้อำนวยการสำนักงานบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ เปิดเผยว่า สิงคโปร์พบการแพร่ระบาดในชุมชนอย่างน้อย 3 คลัสเตอร์ มีผู้ป่วยสะสมรวมกันอย่างน้อย 29 คน 



          จากจำนวนดังกล่าวพบว่า มีผู้ป่วยอย่างน้อย 7 คน ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ บี16172 ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อกลายพันธุ์จากอินเดีย พบมากที่สุดในโรงพยาบาลตัน ต็อก เส็ง หนึ่งในโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ คือ 5 คน ส่วนอีก 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ประจำท่าอากาศยานนานาชาติชางงี และแม่บ้านประจำอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง



          รูปแบบของเชื้อไวรัสทั้งสามคลัสเตอร์ "ไม่เกี่ยวข้องกัน" ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และเชื่อมั่นว่า วัคซีนทั้งหมดที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันจะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้ แต่การยกระดับมาตรการทางสังคมมีความสำคัญมากขึ้นในเวลานี้ เพื่อลดการขยายขอบเขตของทั้งสามคลัสเตอร์ โดยเฉพาะกรณีของโรงพยาบาลตัน ต็อก เส็ง



          ขณะที่นายลอว์เรนซ์ หว่อง ประธานคณะทำงานพิเศษด้านการตอบสนองต่อโรคโควิด-19 ประกาศมาตรการคุมเข้มที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 8-30 พ.ค.64เป็นอย่างน้อย



-จำกัดการรวมกลุ่มในสถานที่สาธารณะสูงสุด 5 คน แต่ทางที่ดี ไม่ควรเกิน 2 คน



-ลดขนาดการให้บริการของสถานประกอบการหลายแห่ง



-ปิดให้บริการโรงยิมและฟิตเนส



-ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด



-ควบคุมผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ บุคคลซึ่งไม่ได้เดินทางมาจากจีน ออสเตรเลีย บรูไน นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 21 วัน บังคับใช้ระหว่างวันที่ 8-30 พ.ค.นี้



-ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ผู้มีถิ่นพำนักถาวร หากมีประวัติการเดินทางในรอบ 14 วัน ล่าสุดเชื่อมโยงอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังกลาเทศ และศรีลังกา จะไม่สามารถเข้าสิงคโปร์ได้ชั่วคราว



          ปัจจุบันสิงคโปร์มีสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมในประเทศ อย่างน้อย 61,252 คน รักษาหายแล้ว 60,806 คน และเสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 31 คน



ฮ่องกง ระงับแผนบังคับให้แม่บ้านต่างชาติต้องฉีดวัคซีน



          รัฐบาลฮ่องกง ประกาศว่า หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน พบแม่บ้านฟิลิปปินส์คนหนึ่งติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แพร่ง่ายว่า แม่บ้านต่างชาติทั้ง 370,000 คนในฮ่องกงจะต้องตรวจหาเชื้อก่อนวันที่ 9 พ.ค.64 และจะต้องฉีดวัคซีนก่อนต่ออายุสัญญาจ้างงาน ทำให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันหยุดเพียงวันเดียวของสัปดาห์ แม่บ้านต่างชาติแห่ไปเข้าแถวรอตรวจนานหลายชั่วโมง



          ล่าสุด นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารฮ่องกง แถลงว่า ทางการระงับนโยบายบังคับฉีดวัคซีนแล้ว เธอได้ขอให้รัฐมนตรีแรงงาน ทบทวนนโยบายในภาพรวม หารือกับที่ปรึกษาและสถานกงสุลประเทศต้นทางแม่บ้านต่างชาติส่วนใหญ่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ขอยืนยันว่า นโยบายนี้ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ส่วนการบังคับตรวจหาเชื้อกับแม่บ้านต่างชาติทุกคนจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. 64



          นางโซเฟีย ชาน รัฐมนตรีสาธารณสุขฮ่องกง ชี้แจงว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากเป็นสายพันธุ์แพร่ง่าย อีกทั้งแม่บ้านรายนี้ไปพบสังสรรค์กับเพื่อนก่อนทราบผลตรวจว่าเป็นบวก จึงต้องตรวจเพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า



          กลุ่มสิทธิแรงงานฟิลิปปินส์ในฮ่องกง ยินดีที่ทางการฮ่องกงสั่งระงับการบังคับฉีดวัคซีน แต่อยากให้เป็นการตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ เพราะการบังคับทำให้แม่บ้านต่างชาติถูกเลือกปฏิบัติและถูกตราหน้า



          ด้านนายเท็ดดี้ ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ทวีตว่า ชื่นชมที่ฮ่องกงจะฉีดวัคซีนให้แม่บ้านทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ควรเลือกปฏิบัติด้วยการบังคับเฉพาะแม่บ้านต่างชาติ



เนปาล วอนนานาชาติขอวัคซีนเพิ่ม ก่อนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว  



          เนปาล พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,388 คน สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาด ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมกว่า 343,400 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,300 ราย



          นายกรัฐมนตรีคัดห์กา ปราสาด ชาร์มา โอลิ กล่าวทางสถานีโทรทัศน์เนปาลว่า เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงตัดสินใจงดเที่ยวบินในประเทศตั้งแต่วันจันทร์ และเที่ยวบินระหว่างประเทศตั้งแต่วันพฤหัสบดี มีผลจนถึงวันที่ 14 พ.ค.64 เขาอยากขอร้องประเทศเพื่อนบ้าน มิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ให้ช่วยจัดส่งวัคซีน ชุดตรวจ ออกซิเจน และอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ มาช่วยรับมือกับการแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขของประเทศล่มสลาย เจ้าหน้าที่กำลังประสานกับจีน รัสเซียและผู้ผลิตหลายแห่งเรื่องขอวัคซีนเร่งด่วน



          เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและประชากร เปิดเผยว่า เนปาลกำลังต้องการวัคซีนของแอสตราเซเนกาอย่างน้อย 1,600,000 โดส เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ที่ฉีดเข็มแรกไปแล้วได้ฉีดเข็มที่สองภายในเวลาที่กำหนด



          เนปาลเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่เดือนม.ค.64 โดยได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา บริจาคจากอินเดีย 1,000,000 โดส และวัคซีนซิโนฟาร์มบริจาคจากจีน 800,000 โดส แต่ต้องระงับการฉีดตั้งแต่เดือนก่อน เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนล็อตใหม่จากทั้งอินเดียและจีน ส่วนวัคซีน 1,000,000 โดสที่ชำระเงินให้แก่บริษัทอินเดียแล้ว จนถึงขณะนี้ยังคงไม่ได้รับ



อินเดีย ยอมยุติแข่ง‘คริกเก็ต’ ผู้ป่วย ทะลุ 20 ล้าน



          กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย  รายงานว่า ในรอบ 24 ชั่วโมง พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 357,229 คน รวมยอดสะสมเป็นกว่า 20,000,000 คน ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3,449 ราย ยอดรวมเป็น 222,408 ราย



          การระบาดระลอกนี้หนักหนาสาหัสมาก ทำให้ระบบสาธารณสุขอินเดียไม่สามารถรับมือได้  โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลนทั้งเตียง ยา และออกซิเจน แต่ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ  อินเดียน พรีเมียร์ ลีก (ไอพีแอล) ซึ่งเป็นการแข่งขันคริกเก็ตที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกถึง 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ไม่เปิดให้เข้าชมในสนาม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งขณะที่ประเทศเผชิญวิกฤตไวรัสรุนแรง



          ล่าสุด ผู้จัดการแข่งขัน ได้ประกาศระงับการแข่งขันเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และนักกีฬา รวมถึงซูเปอร์สตาร์คริกเก็ตระดับโลก ซึ่งมีทั้งที่มาจากอินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ และนิวซีแลนด์

          การระบาดระลอกล่าสุดในอินเดียนี้ มีสาเหตุมาจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมขนาดใหญ่ อย่างการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น และพิธีทางศาสนา อย่างเทศกาลแสวงบุญกุมภเมลาของชาวฮินดู



อียู-สหรัฐฯ เริ่มฟื้นศก.ผ่อนคลายมาตรการ



          สถานการณ์ย่ำแย่ในอินเดียเวลานี้ มีความแตกต่าง ตรงกันข้ามกับทางยุโรปและสหรัฐฯ



-ผู้นำยุโรป กำลังพิจารณาเพิ่มมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ เช่น ข้อเสนอฟื้นการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดอาจทำได้ตอนต้นเดือนหน้า คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอว่า จะอนุญาตให้ผู้เดินทางที่ฉีดวัคซีนที่สหภาพยุโรปอนุมัติจนครบโดสหรือผู้เดินทางจากประเทศที่ควบคุมการระบาดได้เดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรปได้

         ปัจจุบัน วัคซีนที่ได้รับอนุมัติจากอียู ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และแอสตราเซเนกา

-เยอรมนี สมาชิกทรงอิทธิพลในอียู สั่งยกเลิกเทศกาลเบียร์ “ออกโตเบอร์เฟสต์” เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน



          ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของข้อเสนอของอียู คือ ผู้เดินทางชาวอเมริกัน หลังจากสหรัฐฯฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทั้งสองโดสแล้วกว่า 100 ล้านคน

          สื่อท้องถิ่น รายงานว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้า สหรัฐฯอาจอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉินกับเด็กอายุ 12-15 ปี

          ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนทำให้หลายพื้นที่ของสหรัฐฯ เช่น นิวยอร์กและฟลอริดา เริ่มผ่อนคลายมาตรการ



รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยอมรับอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย



          นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดเผยในงานสัมมนาของนิตยสารดิแอตแลนติกว่า อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯร้อนแรงเกินไป เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ



          แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีวงเงินมากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศ



          ตั้งแต่ที่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว สภาคองเกรสได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 5,300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้พยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อเยียวยาชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่เพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วย

ข่าวทั้งหมด

X