ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30น.วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2564

04 พฤษภาคม 2564, 13:30น.


นายกฯ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนถึง 60% สกัดระบาดที่คลองเตย 



         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เขตคลองเตย และกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์



1. ให้มีการตรวจเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนทั้ง 39 ชุมชน เน้นไปที่ 20 ชุมชนที่เกิดการระบาด โดยเร่งตรวจชุมชนที่มีการติดเชื้อ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 1,000-1,500 คน โดยหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งได้ดำเนินการทันทีตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว



2. หากพบผู้ติดเชื้อ ให้มีการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนตามระดับอาการ เขียว เหลือง แดง เพื่อให้ศูนย์เอราวัณส่งตัวต่อเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลสำหรับกลุ่มนั้นๆ โดยเบื้องต้นจะถูกส่งตัวไปที่ศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ ที่สนามกีฬานิมิบุตร หรือศูนย์พักคอยการส่งตัว ที่วัดสะพาน เขตพระโขนง หรือโรงพยาบาลสนาม ที่ จ.สมุทรสาคร



3. กลุ่มสีแดง หรือกลุ่มติดเชื้อและมีอาการหนัก จะถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ทันที ในส่วนตัวมีความเป็นห่วงผู้ป่วยในกลุ่มนี้มากที่สุด จึงได้เร่งรัดให้มีการเตรียมโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม ICU ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้รับการรักษาได้อย่างทันการณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้



4. ส่วนกลุ่มผู้เสี่ยงสูงที่ยังไม่พบว่าติดเชื้อ จะต้องกักตัวในบ้านจนกว่าจะได้รับการแจ้งผล และให้ผู้นำชุมชนช่วยเป็นผู้ประสานงาน ส่งอาหารให้ผู้กักตัว



5. วันนี้จะมีการระดมกำลัง 10-20 จุด เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด วันละ 1,000-3,000 คน รวมให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน ภายใน 2 สัปดาห์ และจะฉีดต่อไปให้ได้ถึงร้อยละ 60 ของประชาชนในชุมชนแออัดคลองเตยหรือประมาณ 80,000 คน



6. นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เพิ่มเติม โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงกลาโหม ที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด



7. ให้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนในการส่งอุปกรณ์ป้องกันโรค อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆให้หน่วยงานที่ต้องลงพื้นที่



8. ให้ทุกเขตใน กทม. เตรียมการเชิงรุก โดยใช้รูปแบบ Model คลองเตยนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต



         ทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว โดยได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการขยายวงของการแพร่ระบาด และให้รายงานความคืบหน้าให้ทราบโดยตรงเพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับแผนการควบคุมสถานการณ์ คือ การจำกัดวงการแพร่ระบาดให้เล็กที่สุดและควบคุมให้ได้เร็วที่สุด  



พรุ่งนี้ กทม. นัดหารือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หาข้อสรุปการให้ยาฟาวิพิราเวียร์



         พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ 5 พ.ค.64 เวลา 10.30 น. กรุงเทพมหานครมีกำหนดประชุมแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19  ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน เช่น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ผู้แทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย  อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมที่สุด





         ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน นายกฯ ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงคลองเตย 50,000 โดส โดยจะฉีดวัคซีนซิโนแวคให้คนอายุ 18-59 ปี อายุมากกว่า 59 ปี ฉีดแอสตราเซเนกา โดยจะฉีดให้คนที่ตรวจสวอปแล้วไม่ติดเชื้อ



CR:กรุงเทพมหานคร



ตั้งทีมค้นหา ช่วยเหลือ แยกผู้สัมผัสจากผู้ติดเชื้อในชุมชนบ้านขิง บางแค



        การเร่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนบ้านขิง บางบอน 3 แขวงหลักสอง เขตบางแค  น.ส.รุจิรา อารินทร์ ผู้อำนวยการเขตบางแค กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากศูนย์บริการสาธารณสุข 40 ได้รายงานข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนบ้านขิง



-วันที่ 27-28 เม.ย.64 ที่พบผู้ติดเชื้อจากการไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในสถานที่ต่างๆ จำนวน 43 คน



-วันที่ 29-30 เม.ย.64 สำนักงานเขตบางแคและศูนย์บริการสาธารณสุข 40 ได้ลงพื้นที่ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อในชุมชนจำนวน 300 คน สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้ออีก 24 คน และจากการสอบสวนโรคพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจที่โรงพยาบาลอื่นเพิ่มเติมอีก 2 คน



-วันที่ 1 พ.ค.64 ได้ให้คนในชุมชนไปตรวจหาเชื้อที่เดอะมอลล์ บางแค จำนวน 200 คน พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 1 คน



-วันที่ 3 พ.ค.64 ได้ตรวจหาเชื้ออีก 660 คน รอผลการตรวจในวันที่ 4 พ.ค. 64



-รวมแล้วตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.-3 พ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อในชุมชนบ้านขิงรวม 71 คน ขณะนี้ศูนย์เอราวัณ ทหาร และสำนักงานเขต ได้นำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ชุมชนเพื่อจัดทำพิกัดแผนที่ (Mapping) ผู้ป่วยติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อกำหนดพื้นที่และวางแนวทางการควบคุมโรคระบาด แต่ไม่ใช่การล็อกดาวน์



         สำหรับการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคในชุมชนบ้านขิง สำนักงานเขตบางแคได้ประสานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริการสาธารณสุข 40 ร่วมลงพื้นที่วางมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในชุมชน เบื้องต้นได้ตั้งทีมค้นหาผู้ป่วยในชุมชนและทีมช่วยเหลือ



-ทีมค้นหาและติดตามผู้ป่วย เพื่อนำเข้ารับการรักษา



-ทีมช่วยเหลือ รับเรื่องและจัดสรรการช่วยเหลือ ซึ่งในวันนี้จะนำสิ่งของอุปโภคบริโภคไปมอบให้ชุมชนบ้านขิง ประกอบด้วย อาหารกล่องสำหรับผู้กักตัวจำนวน 100 ชุด 3 มื้อ และถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง จำนวน 450 ชุด



-ทีมควบคุมโรค



-ทีมส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา



-ทีมดูแลผู้กักตัว HQ



-ทีมรักษาความสะอาด จัดการขยะติดเชื้อในชุมชน



-ทีมที่พักอาศัยในช่วงกักตัว กรณีสถานที่พักไม่เหมาะสมในการกักตัว



ผู้ป่วยในจ.นครศรีฯ รักษาตัวอยู่เกือบ 400 คน



         สำนักงานสาธารณสุข จ.นครศรีธรรมราช รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. 64 ว่า



-ในวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 32 คน



เป็นการรายงานผลตรวจทางห้องปฎิบัติการหาเชื้อโควิด-19 จากหลายโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลนครศรีฯ โรงพยาบาลพ่อท่านคล้ายฯ โรงพยาบาลทุ่งสง และโรงพยาบาลสิชล เป็นต้น



-ยอดผู้ป่วยสะสม 469 คน



-รักษาตัวในโรงพยาบาล 395 คน



-รักษาหายแล้ว 70 คน



-เสียชีวิต 4 ราย



CR: สำนักงานสาธารณสุข จ.นครศรีธรรมราช



 จัด 2 เที่ยวบิน รับคนไทยกลับจากอินเดีย  



         สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ประกาศเรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยระบุว่า  ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอินเดียที่ได้ระบาดระลอกใหม่อย่างรวดเร็ว และขยายตัวในวงกว้างตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.64 ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการดูแลป้องกันตน การเข้ารับการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อที่ยากลำบาก เช่น  บุคลากรทางการแพทย์ เตียง และออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยอาการฉุกเฉินนั้น



-สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้คนไทยในอินเดีย ติดตามข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และหากไม่มีความจำเป็นต้องพำนักอยู่ในอินเดียในช่วงเวลานี้ อาจพิจารณาเดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบินเคลื่อนย้ายคนไทยที่ยังเปิดสำรองและให้บริการอยู่ ได้แก่



-วันที่ 8 พ.ค.64 สายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบิน WE8074 เส้นทางเมืองเจนไน - กรุงเทพฯ โดยขอให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 พ.ค.64 กับสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจนไน ที่หมายเลขโทรศัพท์ +91 97908 31391 https://forms.gle/ZXA42TsC5U4wLLJs9 , -วันที่ 15 พ.ค.64 สายการบินแอร์อินเดีย เที่ยวบินพิเศษ ที่ AI332 เส้นทางกรุงนิวเดลี - กรุงเทพฯ โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 7 พ.ค.64 ที่เว็บไซต์ https://bit.ly/337gCwX



         โดยขอให้ทุกคนตรวจสอบหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานอยู่ รวมถึงตรวจสอบศึกษาขั้นตอนที่เกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศอินเดียที่ของทางการอินเดีย (หากจำเป็น)  ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ/สถานกงสุลใหญ่ไทยฯ จะจัดทำรายชื่อผู้โดยสารโดยอาศัยหลักการลงทะเบียนข้อมูล ผู้โดยสารก่อนมีสิทธิก่อน และจะประกาศรายชื่อทางเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตฯ/สถานกงสุลใหญ่ฯ ต่อไป



         นอกจากนี้ ในวันที่ 5 พ.ค.64 จะมีการจัดเที่ยวบินภารกิจพิเศษจากประเทศไทย เพื่อมอบสิ่งของความช่วยเหลือให้อินเดียในเส้นทางกรุงนิวเดลี -กรุงเทพฯ จึงขอให้คนไทยที่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วน และประสงค์จะเดินทางกลับแจ้ง โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลข +91 95993 21484 หรือ https://bit.ly/3aXxbzu ภายในวันที่ 4 พ.ค.64 (เวลาท้องถิ่น)



ข่าวปลอม! ชวนฉีดวัคซีน Pfizer ที่ลาวฟรี



         ศูนย์ข้อมูล Covid-19 รายงานว่า จากข้อมูลที่ส่งต่อกันใน Social media เชิญชวนฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศลาว โดยประกาศว่านักท่องเที่ยวสามารถขอรับวัคซีนโควิด-19 ได้ฟรีที่ลาว มีทั้งยี่ห้อ Pfizer, AstraZeneca, Sputnik V หรือ Sinopharm ให้เลือก จากการตรวจสอบพบว่าเป็นข่าวปลอมบางส่วน



ข้อเท็จจริง คือ



1. สปป.ลาว ปิดประเทศ ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว



2. ชาวต่างชาติที่สามารถขอรับวัคซีนได้ คือ Essential Travelers ซึ่งหมายถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าลาวในฐานะนักการทูต นักเรียน นักธุรกิจ เป็นต้น



ไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วไป



เว็บไซต์ https://vaccinatelaos.la/index-en.html ใช้งานได้จริง และระบุนิยามของ Essential Travelers ชัดเจน



3. ข้อสังเกต แม้ลาวจะไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวไปฉีดวัคซีน แต่ลาวเปิดให้ชาวต่างชาติประเภทต่าง ๆ ลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้ว โดยเป็นยี่ห้อ Sinopharm ไม่ใช่ Pfizer



คาดกนง.คงดอกเบี้ย0.5% เร่งอัดฉีดเงินช่วยเอสเอ็มอี



         นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 พ.ค.64 คาดว่า จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 และอาจจะคงไปตลอดทั้งปีนี้ โดยเชื่อว่าจะเลือกอัดฉีดเงินเพิ่มเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี หรือออกมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย

          ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ วัคซีน เพราะหากประเทศไทย และกลุ่มประเทศเอเชียกระจายการฉีดวัคซีนได้ล่าช้า จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นแล้ว จนกระทั่งทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.7 และมีแนวโน้มจะทำให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.25 ได้

          นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังที่จะออกมามีลักษณะของการประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก เป็นการซื้อเวลา มากกว่าที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ ทางออกอยู่ที่การฉีดวัคซีนให้ประชากรไทยได้อย่างทั่วถึง

          รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ระลอกใหม่ยังคงรุนแรง โดยกนง.จะใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหามากกว่าการใช้นโยบายทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนมาตรการทางการคลัง คาดว่าจะออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์มีทิศทางไปในเชิงลบมากขึ้น เชื่อว่า กนง. คงพร้อมที่จะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงสูง ท่ามกลางการเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมทั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศด้วยเช่นกัน แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ จะเริ่มดีขึ้น

          ทั้งนี้ กนง. คงจะต้องคอยติดตามสถานการณ์และประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดย กนง. น่าจะยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวออกไปจนส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภค ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังมีความเปราะบางอยู่ คาดว่า กนง. อาจพิจารณาออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม และยังคงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า



เดนมาร์ก ถอดวัคซีนโควิด “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน



         สำนักงานด้านสุขภาพของเดนมาร์ก ได้ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ในโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ นางเฮลีน พร็อบส์ รองผู้อำนวยการสำนักงานด้านสุขภาพของเดนมาร์ก เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาด นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เราต้องยุติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาไปก่อนหน้านี้ด้วย



          สำนักงานด้านสุขภาพ ได้ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนของ J&J เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ประโยชน์ของวัคซีน ไม่ได้มากไปกว่าความเสี่ยง หลังจากที่สำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) สรุปว่า มีความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างกรณีลิ่มเลือดอุดตันที่รุนแรงแม้ไม่พบบ่อย (ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือ VITT) กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ J&J



         ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวจะมีผลกระทบกับกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 20-39 ปี ซึ่งจะเผชิญกับความล่าช้าในการฉีดวัคซีนประมาณ 4 สัปดาห์



         อย่างไรก็ตาม สำนักงานด้านสุขภาพ ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นการปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า วัคซีนของ J&J อาจจะถูกนำกลับมาใช้ในภายหลัง



          แถลงการณ์ระบุว่า อาจมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือสถานการณ์ในเดนมาร์กอาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น  ในแง่ของความกดดันของการติดเชื้อ, ภาระของโรค, การควบคุมการแพร่ระบาด หรือความพร้อมของวัคซีนตัวอื่นๆ



         ปัจจุบันโครงการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการของเดนมาร์กใช้วัคซีนจากไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และของโมเดอร์นา



         อย่างไรก็ตาม ชาวเดนมาร์ก ยังคงมีโอกาสเลือกที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา หรือของ J&J ได้ โดยสมัครใจและไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการใช้แล้วก็ตาม



 

ข่าวทั้งหมด

X