ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2564

04 พฤษภาคม 2564, 08:49น.


 กรมการแพทย์ ขอให้เข้าระบบ หลายราย โทร.1668 ขอเตียงได้แล้วไม่เอา



         นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลโทร.สายด่วน 1668 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 มีประมาณ 1,000 สาย ในจำนวนนี้ติดต่อขอเตียง 100 สาย ส่วนใหญ่มีเตียงของโรงพยาบาลที่ไปตรวจรองรับอยู่แล้วไม่ทันใจ บางส่วนมีการตกหล่นจริงๆ ทีมแพทย์จะคัดกรองและจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโดยเร็ว มีผู้ป่วยบางรายได้รับการติดต่อกลับไปแล้วปฏิเสธการรักษา เพราะคิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้ กรณีเช่นนี้ หากเป็นการตรวจพบเชื้อใน 7 วัน แม้จะไม่มีอาการ แต่เป็นระยะของการแพร่เชื้อ มีความจำเป็นต้องกักกันโรค จะให้ตำรวจ 191 เป็นผู้ประสานเชิญผู้ป่วยที่ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาให้เข้ามารักษาให้ได้ จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว แต่ถ้าไม่มีอาการมามากกว่า 7 วัน และอยู่ในเงื่อนไขที่อาจจะดูแลตัวเองที่บ้านได้ ต้องลงทะเบียนรับคำแนะนำจากทีมแพทย์ที่ไปตรวจ มีการติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะพ้นระยะการแพร่เชื้อ คือ 14 วัน          



เคลียร์เรื่องใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ได้หมายความว่าจะเสียชีวิตทุกราย

         กรณีที่มีประชาชนสงสัยเรื่องที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่า มีผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แตกต่างกันอย่างไร นพ.ณัฐพงศ์ ชี้แจงว่า แบ่งอาการผู้ป่วยเป็น 4 ระดับ คือ



1.ไม่มีอาการ



2.มีอาการเล็กน้อย



3. อาการปานกลาง



4. ผู้ป่วยมีอาการหนักและรุนแรง



         กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก ข้อมูลวันที่ 3 พ.ค.64 มี 981 คน ในจำนวนผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ใช่ว่าจะเสียชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจกว่า 400-500 คน ตัวเลขเสียชีวิตยังอยู่ที่ 100 กว่าคน รอบนี้พบว่ามีเด็กติดเชื้อมาก เป็นไปตามสัดส่วนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักเช่นกัน การดูแลรักษาเด็กใช้วิธีเดียวกันกับผู้ใหญ่แต่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือเฉพาะทาง ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ มีสถานพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กรองรับเพียงพอ



 ปิดตลาดกุ้งอยุธยาอีก 7 วัน

        นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจ.พระนครศรีอยุธยา ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมพิจารณามาตรการเร่งด่วนเรื่องการปรับปรุงตลาดกลางเพื่อการเกษตรหรือตลาดกุ้ง ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา



          ทีมศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ตรวจประเมินร่วมกับทีมสาธารณสุขจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) จำนวน 12 ร้าน พบว่า ผ่านการประเมิน 1 ร้าน ไม่ผ่านการประเมิน 11 ร้าน ประเด็นที่ไม่ผ่าน ได้แก่ การควบคุมจำนวนลูกค้า การติดตั้งพัดลมระบายอากาศ การติดตั้งบ่อดักไขมัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด มีมติให้ปิดตลาดกุ้งต่อไปอีก 7 วัน





 





ชาวบ้าน ลงมติปิดเกาะล้าน 15 วัน

         คณะกรรมการชุมชนบ้านเกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี จัดประชาคมชุมชนเกาะล้าน จากการร่วมหารือมีการลงประชามติ ออกเสียงแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อประเด็นการปิดเกาะล้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ผู้มีสิทธิ 845 คน ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ปิดเกาะล้านงดรับนักท่องเที่ยว เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 5-20 พ.ค.64 ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 บนเกาะล้าน ทั้งนี้ ที่พัก รีสอร์ตต่างๆ ขอให้เคลียร์นักท่องเที่ยวออกทั้งหมดภายในวันนี้  และงดรับนักท่องเที่ยวชุดต่อไป ส่วนประชาชนในเกาะล้าน ให้นำบัตรประชาชนไปติดสติ๊กเกอร์ด้วยตัวเองที่ศูนย์อำนวยการท่าเรือ ในเวลา 09.00-12.00 น. เท่านั้น พร้อมห้ามหาบเร่แผงลอย คนขายลอตเตอรี่ จากฝั่งพัทยาเข้าพื้นที่เกาะล้าน ส่วนเรือโดยสารปรับเวลาวิ่งวันละ 2 เที่ยว ออกจากพัทยา เวลา 07.00 และ 18.00 น. ออกจากเกาะล้าน เวลา 07.00 น. และ 18.00 น.



จ.พิจิตร ห้ามพ่อค้า แม่ค้า  ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เข้ามาขายของในตลาดนัด 



         นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตลาดนัดใน อ.เมืองพิจิตร ตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจิตร ห้ามผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาใน 12 อำเภอของ จ.พิจิตร ห้ามเข้ามาค้าขายประกอบอาชีพในตลาดนัดต่างๆ และยังมีมติปิดตลาดนัดวัดโรงช้าง อ.เมืองพิจิตร 1 เดือน เพราะเจ้าของตลาดนัดปล่อยให้คนนอกพื้นที่เข้ามาค้าขาย ส่วนพิจิตรขณะนี้พบผู้ป่วย 69 คน



ข่าวปลอม! เชียงใหม่ ยืนยัน ภาพโพสต์คนเสียชีวิตจากโควิดกลางตลาด ไม่จริง ไม่ได้เกิดในพื้นที่จ.เชียงใหม่



         ภาพที่มีการโพสต์ให้เห็นผู้เสียชีวิต 2 ราย รายแรกนอนเสียชีวิตกลางตลาดสดแห่งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่กู้ภัย สวมชุดป้องกันเชื้อทั้งชุด PPE และเสื้อกันฝนสวมถุงมือป้องกันตัวมาเก็บศพ ส่วนอีกภาพเป็นเหมือนคนนั่งเสียชีวิตข้างถนน พร้อมกับมีการโพสต์ข้อความว่า “อัพเดทจากทีมกู้ภัย! ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ชาวเชียงใหม่ครับ ไม่จำเป็นอย่าออกบ้านนะครับ ออกบ้านไม่ปลอดภัยสุดๆ แล้วนะ ตอนนี้เริ่มมีผู้คนเสียชีวิตตามท้องถนนแล้ว”





         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงยืนยันว่า ตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง ผู้เสียชีวิตที่ปรากฏในภาพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่



         ทั้งนี้ รายงานระบุว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน เตรียมพิจารณาและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้โพสต์ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียที่ไม่เป็นความจริง ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลที่ไม่เป็นความจริง อาจเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ



พบคลัสเตอร์ใหม่ที่ อ.หางดง ติดเชื้อ 8 คน จากการรวมกลุ่มหลังสงกรานต์



         ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ด้านการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ระบุรายละเอียดของการตรวจเชิงรุก



-ตรวจประชาชน 1,320 คน



-ผู้ป่วยติดเชื้อ คิดเป็นร้อยละ 2.50 ลดลงจากวันอาทิตย์



-พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจที่โรงพยาบาลรัฐ สูงถึงร้อยละ 9.73



-ตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน พบร้อยละ 9.18



-โรงพยาบาลสนาม ร้อยละ 6.79



แสดงให้เห็นว่ามีการแพร่กระจายโรคออกไปสู่ต่างอำเภอมากขึ้น



-ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นการสัมผัสในครอบครัว ชุมชน และสถานที่ทำงาน



-ผลการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงกว่า 20 แห่ง พบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ร้อยละ 0.9 สอดคล้องกับ คลัสเตอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่



         จากการคัดกรองเชิงรุก พบกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ หรือ คลัสเตอร์ใหม่ ที่อำเภอหางดง จากการสอบสวนในเบื้องต้น มีความเกี่ยวข้องกับการจัดงานรวมกลุ่มคนในช่วงหลังวันสงกรานต์ เบื้องต้น พบผู้ติดเชื้อจำนวน 8 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนแล้ว พร้อมขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นเหตุการณ์การรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ขัดต่อคำสั่ง มาตรการควบคุมโรคในขณะนี้ ขอให้แจ้งเบาะแสไปที่ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในอำเภอใกล้บ้าน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการได้ทันท่วงที



CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เชียงใหม่



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X