รมช.คมนาคม ประชุมเตรียมให้การท่าเรือเป็นรพ.สนาม
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ประชุมเพื่อหาข้อสรุป กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามว่าการแพร่ระบาดที่เป็นวงกว้างทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมการรองรับ หากมีการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก เป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขในระบบ
กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า ชุมชนคลองเตยและชุมชนใกล้เคียง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพแออัด และประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ใช้อาคารโกดังสเตเดียม เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อช่วยเหลือประชาชน
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามคลองเตย จะใช้อาคารคลังเก็บสินค้า ท่าเรือคลองเตย สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 250-300 เตียง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าจะเปิดใช้งานภายในเดือนนี้
กทม.เตรียมขอวัคซีนมาฉีดให้กลุ่มเสี่ยงที่คลองเตย ตรวจ 3 ชุมชน ติดเชื้อแล้ว 99 คน
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า แผนการควบคุมโควิด- 19 ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ติดเชื้อที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ อยู่อาศัยในชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น รวม 41 ชุมชน บ้านอยู่ติดๆ กัน การระบายอากาศไม่ดี อาจจะทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง กทม. และ สถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) จึงได้ลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกประชาชนในชุมชนที่มีการระบาดจำนวนมาก 3 ชุมชน ได้แก่
-ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่
-ชุมชนพัฒนาใหม่
-ชุมชนริมคลองวัดสะพาน
การลงพื้นที่ ในวันที่ 27-30 เม.ย. 64 การคัดกรองจำนวน 1,336 คน พบผู้ติดเชื้อ 99 คน คิดเป็นร้อยละ 7.41
นอกจาก จะตรวจหาเชื้อเชิงรุกแล้ว ผู้ว่าฯ กทม.กำลังอยู่ระหว่างการขอวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อจะใช้ในการควบคุมการระบาดอย่างเร่งด่วนแบบที่ กทม.สามารถควบคุมได้ที่ ตลาดบางแคและทองหล่อ โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง
กทม.กับ สปคม. ยังคงเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีแผนการตรวจซ้ำในชุมชนเสี่ยง เพื่อยุติการระบาด พร้อมทั้ง เร่งฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดวงกว้างในชุมชน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในที่ทำงาน คนในครอบครัว กรณีชุมชนแออัดในเขตคลองเตยที่มีชุมชนมากมีบ้าน 75,000 หลัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ กทม. ต้องเร่งค้นหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดให้ได้มากที่สุด เพื่อยุติการระบาดให้เร็วที่สุด โดยศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และสำนักงานเขต ทำงานร่วมกับ ผู้นำชุมชน (Covid manager) พาคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อ เริ่มจากจุดที่พบการติดเชื้อจำนวนมากก่อน เป้าหมายการตรวจวันละ 1,000 คน และพยายามขยายเพิ่มศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกชุมชนในวันนี้จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 64 เพิ่มอีก
ชุมชนพัฒนาใหม่ พบติดเชื้อมากที่สุดในเขตคลองเตย
จากการแยกการตรวจค้นหาเชิงรุก ในพื้นที่คลองเตย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ระบุว่า ชุมชนคลองเตยมีการตรวจเชิงรุก 1,336 คน พบผู้ติดเชื้อ 99 คน เป็นยอดค้นหา ใน 3 ชุมชน ดังนี้
-ข้อมูลวันที่ 27 เม.ย.64 ชุมชน 70 ไร่ ตรวจเชิงรุก 436 คน พบติดเชื้อ 21 คน
-ข้อมูลวันที่ 27 เม.ย.64 ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจเชิงรุก 489 คน พบติดเชื้อ 29 คน
-ข้อมูลวันที่ 30 เม.ย.64 ชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจเชิงรุก 411 คน พบติดเชื้อ 49 คน
นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งศูนย์พักคอยวัดสะพาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อและดูแลเบื้องต้น รอส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม
10 เขต กทม. ติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงที่สุด ห้วยขวาง-ดินแดง-บางเขน
จากการสอบสวนค้นหาพบว่ามีผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ของแต่ละเขตของกรุงเทพฯ ศบค.เปิดเผยข้อมูล 10 อันดับแรก เป็นข้อมูลของการระบาดระลอกใหม่คือวันที่ 1-29 เม.ย.64 ประกอบด้วย
-เขตห้วยขวาง มีจำนวนติดเชื้อสะสม 392 คน
-เขตดินแดง และเขตบางเขน ติดเชื้อ 284 คน
-เขตวัฒนา ติดเชื้อ 272 คน
-เขตจตุจักร ติดเชื้อ 259 คน
-เขตลาดพร้าว 230 คน
-เขตวังทองหลาง 225 คน
-เขตบางกะปิ 215 คน
-เขตสวนหลวง 211 คน
-เขตภาษีเจริญ 186 คน