สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร มีหลายพื้นที่เสี่ยงที่อาจเป็นพื้นที่แพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนคลองเตย และชุมชนโดยรอบที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ล่าสุด กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ชุมชนคลองเตยและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพแออัดและประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กรณีพบการติดเชื้อ หากไม่นำเข้าสู่ระบบสาธารณสุขโดยเร็วและทันเวลาจะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ดังนั้น จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการใช้อาคารโกดังสเตเดียมเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ศักยภาพและสถานที่ ที่มีพร้อมอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยในขณะนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการหารือ เพื่อจัดหาสถานที่จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามอย่างน้อย 200 เตียง
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ประชุมเพื่อหาข้อสรุป กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยระบุว่า การแพร่ระบาดที่เป็นวงกว้าง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมการรองรับ หากมีการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก เป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขในระบบ
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ในคลองเตยที่เป็นกังวล คือ ในช่วงเดือน เม.ย. มีเคสบวกรวมกันมากกว่า 300 คนและได้มีการทำการค้นหาเชิงรุกในปลายเดือน เม.ย. พบว่าอัตราการเป็นบวกในชุมชนเพิ่มจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5-10 ทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะมีเคสอยู่ในชุมชนมากน้อยเพียงใด ประกอบกับชุมชนเป็นชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น ซึ่งมีข้อจำกัดในการ Work Form Home
ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โรงพยาบาลจุฬาฯ อยู่ในเขตกรุงเทพใต้ ดูแลพื้นที่รอบคลองเตย ซึ่งได้รับเคสจากชุมชนคลองเตย และบ่อนไก่ในปริมาณที่เยอะขึ้น
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนที่มีพื้นที่กว้างกว่า 200 ไร่ ประชากรที่ลงทะเบียนมีประมาณ 1 แสนคน มีการแบ่งเป็นชุมชนย่อยๆ หลายชุมชน แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็งและจัดการดี ซึ่งประชาชนของที่นี่เป็นกลุ่มที่ทำงานกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็มีบุคลากรที่อาศัยอยู่ในคลองเตยจำนวนหนึ่ง พร้อมย้ำว่า ไม่ได้บอกว่าชุมชนนี้เป็นปัญหา หรือต้นตอการแพร่ระบาด ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างที่ในทุกเขตของ กทม.อัตราการติดเชื้อกระจายกันไป เพียงแต่ว่าเมื่อมีสัญญาณบางอย่าง มีความเสี่ยง คิดว่าถ้าเข้าไปดำเนินการระยะแรกเลย มันน่าจะดี และก็เกิดการป้องกันในชุมชนได้ ซึ่งในบางชุมชนอาจจะต้องใช้รูปแบบเฉพาะที่จะช่วยให้เข้มแข็งขึ้น ช่วยกันในหลายๆ ด้าน
ล่าสุดวันนี้ ในกรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 675 คน
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า ชุมชนคลองเตยมีการตรวจเชิงรุก 1,336 คน พบผู้ติดเชื้อ 99 คน เป็นยอดค้นหา ใน 3 ชุมชน ดังนี้
-ชุมชน 70 ไร่ ตรวจเชิงรุก 436 คน พบติดเชื้อ 21 คน (วันที่ 27 เม.ย.)
-ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจเชิงรุก 489 คน พบติดเชื้อ 29 คน (วันที่ 27 เม.ย.)และ
-ชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจเชิงรุก 411 คน พบติดเชื้อ 49 คน (วันที่ 30 เม.ย.)
นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งศูนย์พักคอยวัดสะพาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อและดูแลเบื้องต้น รอส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม