สธ.เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจะอยู่ในระดับนี้ต่ออีกระยะ
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังสงกรานต์จนถึงปัจจุบันทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจากนี้ไปก็จะคงตัวในระดับปัจจุบันไปอีกระยะหนึ่ง
ผู้เสียชีวิตเมื่อวานนี้ 2 ราย มีประวัติติดเชื้อ ขณะที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งการอธิบายตรงนี้ คือ เมื่อญาติเข้าเยี่ยม คาดว่าน่าจะติดเชื้อจากญาติ ดังนั้นจึงขอให้มีความเข้มงวดในการป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ
เจอผู้ติดเชื้อต่อเนื่องในชุมชน 70 ไร่-ชุมชนพัฒนาใหม่ คลองเตย
ผลการการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนคลองเตย
- 27 เม.ย.64 ชุมชน 70 ไร่ คัดกรอง 433 คน พบเชื้อ 21 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ส่วนที่วัดสะพาน คัดกรอง 489 คน พบเชื้อ 29 คน คิดเป็นร้อยละ 6
-30 เม.ย.64 ชุมชนพัฒนาใหม่ คัดกรอง 411 คน พบเชื้อ 49 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ล่าสุด ข้อมูลจากเพจคลองเตย ระบุว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 ผลการตรวจเชิงรุกในชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 โดยรถตรวจโควิด-19 พระราชทาน คัดกลุ่มเสี่ยงในชุมชนจำนวน 261 คน พบคนติดเชื้อเพิ่มอีก 24 คน และยังมีอีกหลายรายยังไม่แจ้งผลการตรวจให้ทางคณะกรรมการทราบ ทำให้ขณะนี้ยอดสะสมในชุมชนรวม 85 คน เป็นชุมชนที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในคลองเตย
ตลาดคลองเตย ประกาศปิดตลาดชั่วคราววันที่ 2 พ.ค.64 ตั้งแต่เวลา 20.00 น.เป็นต้นไปและจะเปิดขายอีกครั้งวันที่ 5 พ.ค.64 เวลา 20.00น. เพื่อทำความสะอาด
นอกจากนี้ วันนี้ ติดตาม การตรวจหาเชื้อในพื้นที่ชุมชนบ้านขิง บางบอน 3 แขวงหลักสอง เขตบางแค
นครปฐม ให้คนที่ไปปากคลอง 20 เม.ย.-2 พ.ค.64 ตรวจหาเชื้อ
สำนักงานสาธารณสุข จ.นครปฐม ประกาศด่วนฉบับที่ 14 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 ระบุว่า ชาวนครปฐม ที่เดินทางไปปากคลองตลาด เชิงสะพานพุทธ กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-2พ.ค.64ให้ไปเข้ารับการตรวจคัดกรอง การติดเชื้อโควิด-19ค ได้ในทุกโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
จังหวัดนครปฐม พบผู้ป่วยโควิด-19 วันที่ 2 พ.ค. 64
-รายใหม่ 23 คน
-ผู้ป่วยสะสม 783
-เสียชีวิต 4 ราย (รายที่ 80 , 171, 366 และ 264)
-รักษาอยู่ 393 คน
-รักษาหาย 384 คน
-ผู้สัมผัสผู้ป่วยภายในจังหวัด 11คน
-สัมผัสผู้ป่วยนอกจังหวัด 7 คน
-ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและผู้ป่วยทุกรายได้รับการกักกันและดำเนินการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข
-จังหวัดนครปฐม ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมยอดสะสม 50,854 คน
วันนี้ จ.ปัตตานี เพิ่มมาตรการเข้ม ผู้ติดเชื้อสะสมใกล้แตะ 100 คน
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในขณะนี้อยู่ที่ 97 คน พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี 24 คน โรงพยาบาลสนาม 55 คน โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 คน
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อใกล้แตะ 100 คนแล้ว ทำให้นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จ.ปัตตานี ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มในการป้องกันการแพร่ระบาด คาดว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมจะเกิน 100 คน ทำให้จำเป็นต้องมีการประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวด และเพิ่มมาตรการเข้มขึ้น โดยมีมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี เพิ่มเติมดังนี้
-บุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ปัตตานี จากทุกจังหวัดต้องรายงานตัวกับ จนท.ด่านตรวจ ทุกราย เพื่อทำประวัติในการเดินทาง พร้อมทั้งเพิ่มด่านตรวจทุกช่องทางที่เข้าปัตตานี อีก 2 ด่าน คือ ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง
-งดออกจากเคหสถาน เวลา 22.00-04.00 น.
-ร้านอาหาร ร้านน้ำชา งดนั่งรับประทานในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว
-ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนเกินกว่า 20 คน เดิม 50 คน ยกเว้นจัดโดยราชการ
-ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ปิด 22.00-04.00 น.
-ปิดสถานบริการ ขยายเวลาออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น (เดิมปิดถึง 1 พ.ค.64)
-งดละหมาดวันศุกร์ ละหมาดตะรอเวียะห์ และละศีลอด ที่มัสยิด ตามมาตรการคำสั่งของจุฬาราชมนตรี เนื่องจากปัตตานีมีผู้ติดเชื้อเกิน 50 คน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ 3 พ.ค. 64
ระนอง สั่งล็อกดาวน์ 2 หมู่บ้าน หลังตรวจพบ 12 คลัสเตอร์แพร่เชื้อ
จากสถานการณ์ จ.ระนอง ซึ่งมีข้อมูลการระบาดโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย.64 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 พ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อสะสม 237 คน เป็นคนไทย 157 คน แรงงานข้ามชาติ 80 คน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อใน 12 คลัสเตอร์ และคลัสเตอร์สนุกเกอร์-แพปลา ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา
จังหวัดระนอง มีประกาศคำสั่งเรื่อง มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้มีมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดระนอง ขอความร่วมมือให้งดหรือชะลอ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
นอกจากนี้มีคำสั่งให้สถานประกอบกิจการซื้อขายสัตว์น้ำหรือแพปลา ตลาดปลาทุกแห่ง จัดให้มีการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วมหรือ bubble and seal คือให้โรงงานที่มีพนักงานพักอยู่นอกโรงงาน กำกับดูแลพนักงานอยู่ในสถานที่กำหนด และควบคุมได้ รวมถึงให้งดการจำหน่ายสัตว์น้ำโดยวิธีการประมูล แต่ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการซื้อขายตรงหรือผ่านออนไลน์แทนระหว่างวันที่ 2 ถึง 5 พ.ค.64 และให้ปิดสถานประกอบกิจการซื้อขายสัตว์น้ำทุกแห่งตั้งแต่วันที่ 6-12 พ.ค. 64 และให้สถานประกอบกิจการซื้อขายสัตว์น้ำทุกแห่งงดการจำหน่ายสัตว์น้ำโดยวิธีการประมูลตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ค.64 รวมถึงขอความร่วมมือให้เรือประมงทุกประเภทงดให้คนประจำเรือขึ้นจากเรือระหว่างวันที่ 6-12 พ.ค. 64