มีผู้จองวัคซีนผ่าน 'หมอพร้อม' แล้วเกือบ 300,000 คน

01 พฤษภาคม 2564, 19:37น.


          กระทรวงสาธารณสุข เผยการลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบ “หมอพร้อม” วันนี้ (1 พ.ค.) จนถึงเวลา 16.30 น. มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 280,050 คน โดยเป็นการลงทะเบียนสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง นัดหมายรับการฉีดได้ในโรงพยาบาล 1,200 แห่ง สามารถลงทะเบียนได้ตลอดเดือนพฤษภาคม  



          นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) ที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แถลงว่า การลงทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” จนถึงเวลา 14.30 น. มีผู้จองรับวัคซีนแล้ว 199,194 คน แบ่งเป็นทางไลน์ 157,066 คน และแอปพลิเคชัน 42,128 คน โดยการลงทะเบียนช่วงเช้าในกรุงเทพมหานครเกิดความล่าช้า เนื่องจากโรงพยาบาลที่เปิดระบบรับจองมีเพียง 24 แห่งเท่านั้น จึงมีการประสานกับกรุงเทพมหานคร เปิดระบบรับจองแล้ว 134 แห่งจาก 160 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลสนามยังไม่เปิดระบบ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง จึงควรฉีดในโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เปิดระบบทุกโรงพยาบาลแล้ว โดยโรงพยาบาลขนาดเล็กเปิดรับจอง 360 คนต่อวัน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 600 คนต่อวัน คิดจากเวลาฉีด 1 คนต่อ 1 นาที สามารถฉีด 16 ล้านคน 16 ล้านโดสได้ภายในเวลา 54 วัน ซึ่งลงทะเบียนรับการฉีดจะทำให้สามารถส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลได้ตามจำนวนที่จะต้องฉีด



          นายแพทย์พงศธร กล่าวต่อว่า รายชื่อในไวท์ลิสต์ โรงพยาบาลได้นำเข้าสู่ระบบตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ขณะนี้ต่างจังหวัดทำได้ประมาณร้อยละ 95 ถึง 98 อาจตกหล่นรายชื่อประมาณ 1 ล้านคน จึงทำให้ไม่พบรายชื่อเมื่อจองคิว เนื่องจากมีโรงพยาบาล 1,200 แห่ง ได้แก้ปัญหาโดยเปิด หมอพร้อม ไลน์โอเอ เวอร์ชัน 2.1 เพื่อให้ประชาชนที่ตกหล่นสามารถลงชื่อได้เลย หรือแจ้งโรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา หรือหน่วยบริการที่ท่านมีสิทธิรักษาพยาบาล เพื่อนำรายชื่อเข้าระบบหมอพร้อม สำหรับกรณีที่รับการรักษา 2 โรงพยาบาลในกรุงเทพและต่างจังหวัด รายชื่อควรขึ้นทั้ง 2 โรงพยาบาล แต่เนื่องจากโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครยังไม่เปิดระบบนัดฉีด ทำให้มีรายชื่อขึ้นที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด



          สำหรับกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีน ได้เรียงลำดับความสำคัญแบ่งเป็น 5 กลุ่ม รวม 50 ล้านคน



-บุคลากรสาธารณสุข จำนวน 1 ล้าน 2 แสนคน



-บุคลากรด่านหน้า ทหาร ตำรวจ ประมาณ 1 ล้าน 8 แสนคน



-ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุน้อยกว่า 60 ปี ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และเบาหวาน รวม 4 ล้าน 3 แสนคน



-ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้าน 7 แสนคน



-ประชาชนที่เหลืออีก 31 ล้านคน



          โดยจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จำนวน 16 ล้านโดส สำหรับ 16 ล้านคน ซึ่งจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 60 ถึง 70 จึงมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน ไม่ต้องรีบลงทะเบียน ยังมีเวลาให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป และเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนถึงกรกฎาคม ส่วนประชาชนทั่วไปเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 และเริ่มรับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาเดือนละ 10 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งได้รับคำชมเชยจากบริษัทแม่ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ว่ามีคุณภาพสูงมาก รวมทั้งจะมีวัคซีนอื่นๆ อีกหลายล้านโดสที่จะทยอยเข้ามา



          หลังจากรับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ร่างกายจะได้รับการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ย้ำว่า การฉีดวัคซีนช่วยให้ตัวเราแข็งแรง มีภูมิต้านทานขึ้น หากติดเชื้อ ไม่ต้องนอนไอซียู ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ขณะเดียวกันมีการศึกษาในต่างประเทศระบุว่าช่วยลดการแพร่เชื้อได้ เพราะจำนวนเชื้อในจมูกจะลดลง ช่วยลดการแพร่เชื้อต่อไปยังชุมชนด้วย ช่วยทั้งตัวเรา ปกป้องครอบครัว ในที่สุดจะทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไปได้



....

ข่าวทั้งหมด

X