ผู้ป่วยอาการหนักและต้องใส่ท่อช่วยหายใจรวมกว่า 1,000 คน
การติดเชื้อโควิด19 วันนี้ ที่ยอดผู้ป่วยสะสม 65,153 คน จำนวนผู้ที่ยังรักษาอยู่ มีอาการหนัก 871 คน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 250 คน
ส่วนผู้เสียชีวิต อยู่ในกรุงเทพมหานคร 9 ราย ชลบุรี พัทลุง สุราษฏร์ธานี นครปฐม ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ทั้งความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง เป็นผู้ป่วยติดเตียง
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยง มีประวัติใกล้ชิดกับคนในครอบครัวที่ติดเชื้อมากถึง 6 ราย นอกจากนี้มีประวัติสัมผัสเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่ติดเชื้อ สัมผัสผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง
5 อันดับจังหวัดที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในการระบาดรอบเดือนเมษายน คือ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ชลบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี
ศบค.เร่งควบคุมการระบาดในกรุงเทพฯ - เปิดศูนย์แรกรับดูแลผู้ป่วยโควิด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข วันนี้ เป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้ออยู่ในทุกเขต โดยในช่วงวันที่ 27-30 เม.ย.64 มีแผนการตรวจคัดกรองเชิงรุก ในพื้นที่ชุมชนแออัดคลองเตย , ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ , ซอยสุขสวัสดิ์ 24 , พื้นที่ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (สน.บึงกุ่ม , สน.วังทองหลาง , สน.โชคชัย) สยาม , ประตูน้ำ , สยามพารากอน , ศูนย์ราชการ (TOT, DSI,ไปรษณีย์ไทย) , พื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ( สน.บางซื่อ, สน.บางเขน , สน.สุทธิสาร), โรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้า โดยมีเป้าหมายคัดกรองเชิงรุกกว่า 5,300 ราย พร้อมจัดวางกลยุทธ์และแนวทางในการควบคุมการระบาดในกรุงเทพฯ ทั้งการห้ามกิจกรรมเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยง การตรวจเชิงรุก และการเฝ้าระวัง
ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยที่อาคารกีฬานิมิตรบุตร เริ่มเปิดรับผู้ป่วยวันนี้ (30 เม.ย.64) เป็นวันแรก มีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังหาเตียงไม่ได้ ยังตกค้างอยู่ที่บ้าน หรือยังไม่มีรถพยาบาลไปรับจริงๆ สามารถโทรได้ที่เบอร์ 02-079-1000 ซึ่งมีจำนวน 40 คู่สาย โดยบริษัทเอไอเอสสนับสนุนตั้งคอลเซ็นเตอร์ให้ ผู้ป่วยที่เข้ามายังศูนย์แรกรับและส่งต่อนี้ จะได้รับการตรวจซ้ำคัดแยกอาการ หากเป็นผู้ป่วยอาการหนักมาก หรือสีแดง จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทันที แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการไม่หนักมากนัก จะได้รับการรักษาอยู่ภายในศูนย์แห่งนี้ ซึ่งมีการระดับบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ อุปกรณ์ รถเอ็กซเรย์และรถชีวนิรภัย พร้อมให้บริการ
‘เจ๊จง’ เปิดไทม์ไลน์ หลังติดเชื้อโควิด-19
นางจงใจ กิจแสวง หรือเจ๊จง เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งไทม์ไลน์ของตัวเอง หลังทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 รายละเอียดดังนี้
- 23 เมษา : อยู่ร้านพระราม 4 ตลอด อยู่ในออฟฟิศ เดินออกมาข้างนอกบ้างนิดหน่อย
- 24 เมษา : อยู่สวนเจ๊จง ที่จังหวัดนครปฐม
- 25 เมษา : อยู่สวนเจ๊จง ที่จังหวัดนครปฐม
- 26 เมษา : อยู่ร้านพระราม 4 ช่วงเช้า อยู่ในออฟฟิศ ช่วงบ่าย ลูกสะใภ้แจ้งว่า ติดโควิด
- 27 เมษา : ปิดร้านพระราม 4 และอีก 10 สาขาที่ต้องใช้ครัวกลาง
- 28 เมษา : ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19และกักตัวอยู่ในบ้านที่พระราม 4
- 29 เมษา : ผลโควิดเป็นบวก ช่วงบ่ายเจ๊เข้าโรงพยาบาล
- 30 เมษา : ส่งลูกน้องทุกคนไปตรวจโควิด และจะมีการดูแลอย่างดี
ซูซูกิ สั่งโรงงาน 3 แห่งในอินเดียเปลี่ยนการทำงานเพื่อส่งมอบออกซิเจนให้ผู้ป่วยโควิด-19
ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ป จากญี่ปุ่นมีคำสั่งให้โรงงาน 3 แห่งในอินเดียหยุดกระบวนการผลิตเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เพื่อเปลี่ยนการผลิตออกซิเจนที่ใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ไปเป็นออกซิเจนในทางการแพทย์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และซูซูกิ ระบุว่า ควรนำออกซิเจนไปใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย
การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ในครั้งนี้ ไม่ส่งผลต่อกำลังการผลิตโดยรวม เนื่องจากเป็นการสลับช่วงเวลาที่ซูซูกิจะปิดซ่อมบำรุงโรงงานตามกำหนดเดิมในเดือนมิถุนายนขึ้นมาเร็วขึ้น
ด้านบริษัท ฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด ประกาศระงับการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่โรงงาน 4 แห่งในอินเดียตั้งแต่วันเสาร์นี้ไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม
ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะมีการใช้ออกซิเจนในขั้นตอนการเชื่อมและกระบวนการผลิตอื่นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ซัพพลายเออร์หลายแห่งในอินเดียได้แจ้งว่ามีปัญหาในการผลิตชิ้นส่วนให้แก่โรงงานผลิตรถยนต์เนื่องจากการขาดแคลนออกซิเจน
สหรัฐฯลำเลียงเสบียงช่วยเหลือฉุกเฉินถึงอินเดียแล้ว
วันนี้ เครื่องบินทหารสหรัฐฯ ลำเลียงเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินผู้ป่วยโควิด-19 ชุดแรกมาถึงอินเดียแล้ว ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย รายงานว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 386,452 คนและผู้เสียชีวิตมากถึง 3,498 รายเนื่องจาก โรงพยาบาลทั่วประเทศไม่มีเตียงผู้ป่วยและออกซิเจน เฉพาะที่กรุงนิวเดลี มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในช่วงเวลา 1 วันคือ 395 รายและมีผู้ป่วยรายใหม่ 24,235 คน ในการระบาดระลอกที่ 2 ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 7,700,000 คนแล้ว
เครื่องบินทหารซูเปอร์แกแล็กซีของสหรัฐฯ ลำเลียงเสบียงฉุกเฉินชุดแรกของปฏิบัติการช่วยเหลือระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ได้แก่ ถังออกซิเจนมากกว่า 400 ถัง อุปกรณ์โรงพยาบาล และชุดทดสอบโควิด-19 เกือบ 1,000,000 ชุด จากฐานทัพทราวิสในแคลิฟอร์เนีย ตามผลการเจรจาในสัปดาห์นี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ซึ่งนายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า จะจัดส่งเสบียงมูลค่ามากกว่า 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วนให้กับอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญ โดยเที่ยวบินพิเศษจะนำส่งอุปกรณ์ที่บริจาคโดย บริษัท และบุคคลต่างๆ
พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จากเหตุเหยียบกันตายในงานเทศกาลที่อิสราเอล
หน่วยบริการฉุกเฉินของอิสราเอล รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 44 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง จากการร่วมงานเฉลิมฉลองเทศกาลลัก บา โอเมร (Lag B'omer) ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของชาวยิวออร์โธดอกซ์
สื่อในอิสราเอล รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย และหน่วยบริการฉุกเฉินต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในการส่งต่อผู้บาดเจ็บ
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “หายนะภัยครั้งใหญ่”
เทศกาลลัก บา โอเมร เป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของรับบี ชิมอน บาร์โยไช นักปราชญ์ชาวคาบาลิสต์และสาวกของเขาในศตวรรษที่ 2 การจัดงานที่เชิงเขาเมรอนเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้นในประเทศนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคน
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากโครงสร้างของสถานที่จัดงานพังทลายลง แต่ตำรวจเปิดเผยผลการสอบสวนที่พบว่าจุดเริ่มต้นคือการที่มีผู้เข้าร่วมงานบางคนลื่นล้ม แล้วดึงให้ผู้ร่วมงานอีกหลายคนล้มลงไปด้วย จากนั้นก็เกิดความแตกตื่น เมื่อผู้ร่วมงานคิดว่ามีการแจ้งเตือนเหตุระเบิด