ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564

30 เมษายน 2564, 09:10น.


หลับให้สบาย! น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิตแล้ว ในวัย 63 ปี  



         กลายเป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิง เมื่อตลกชื่อดัง "น้าค่อม" ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 07.30 น. ของเช้าวันที่ 30 เม.ย. 2564 เนื่องจากมีภาวะโคม่า อวัยวะหลายอย่างล้มเหลว รวมถึงการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะชีพจรกับความดัน ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยา



         ไอซ์ ณพัชรินทร์ ลูกสาวของน้าค่อม โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เพจ ค่อม ชวนชื่น ว่า "คุณพ่อหลับสบายแล้วนะคะ" น้าค่อม ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ก่อนที่เชื้อจะลงปอด อาการปอดอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน จนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ฟอกไต ก่อนจะย้ายจาก รพ.วิภาราม ไปรักษาตัวต่อที่ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ทั้งนี้ ได้มีแฟนคลับเข้ามาแสดงความเสียใจต่อการจากไปของน้าค่อมเป็นจำนวนมาก



         สำหรับประวัติของน้าค่อม ชวนชื่น ชื่อจริง อาคม ปรีดากุล อายุ 63 ปี เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2501 ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นนักแสดงตลกชาวไทย อีกทั้งเป็นอดีตสมาชิกตลกคณะชวนชื่น โดยวงการบันเทิงมักจะเรียกติดปากว่า "น้าเหยิน" เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษเรื่องการจำบทได้อย่างแม่นยำ



          ด้านชีวิตส่วนตัวน้าค่อม ชวนชื่น สมรสกับนางประภาศรี ปรีดากุล มีบุตร 3 คน คือ คนแรก ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ (จีรนันท์ ปรีดากุล) คนที่ 2 กฤต ปรีดากุล คนที่ 3 วิธาน ปรีดากุล



         น้าค่อม ยึดอาชีพตลกมานานกว่า 20 ปีแล้ว ผ่านมาแล้วทั้งงานละครและภาพยนตร์แบบนับไม่ถ้วน โดยผลงานแสดงที่สร้างชื่อเสียงเป็นภาพยนตร์เรื่อง 7 ประจัญบาน เมื่อปี พ.ศ. 2545 บริษัท สหมงคลฟิล์ม ได้นำเรื่อง 7 ประจัญบาน มาทำใหม่ โดยมีเฉลิม วงศ์พิมพ์ เป็นผู้กำกับ และน้าค่อมเป็นหนึ่งในนักแสดงร่วมกับ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, อัมรินทร์ นิติพน, เท่ง เถิดเทิงทำรายได้ถึง 58.30 ล้านบาท





ประมาทไม่ได้ ! ผู้ป่วยปอดอักเสบและผู้ป่วยใช้ท่อช่วยหายใจรวมกันเกือบ 1,000 คน



          นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ เริ่มชะลอตัวลงจากเดิมที่พบวันละ 2,000 คน และสูงสุดในวันที่ 24 เม.ย.64 ถึง 2,800 คน ดังนั้น ยังประมาทไม่ได้ เพราะจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ มีจำนวน 786 คน และมีจำนวนผู้ป่วยหนักใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 230 คน



           ขณะนี้เริ่มพบผู้เสียชีวิต ตัวเลข 2 หลัก และตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเม.ย.64 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 94 ราย จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 188 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 0.3 หรือในผู้ป่วย 1,000 ราย พบเสียชีวิต 3 ราย ส่วนอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต พบ 45-91 ปี หรือ เฉลี่ยประมาณ 62 ปี



          การเสียชีวิตของผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มวัยสูงอายุที่ได้รับเชื้อจากคนหนุ่มสาวที่ไม่แสดงอาการ โดยบางส่วนเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีญาติมาเยี่ยม ได้รับเชื้อจากญาติหรือการติดเชื้อจากผู้ดูแล



         ส่วนคนหนุ่มสาวเป็นการติดเชื้อจากการรับประทานอาหารในร้านร่วมกับเพื่อนร่วมงาน



         ขณะนี้ ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-28 เม.ย.64 มีการฉีดไปแล้ว 1,344,646 โดส ใน 77 จังหวัด และเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,059,721 คน วัคซีนเข็ม 2 จำนวน 284,925 คน



เล็งฉีดวัคซีนให้ครูและนักเรียน



          การประชุม ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือ 2 ประเด็น คือ เรื่องการขอเลื่อนวันเปิดเรียนของนักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะได้ไม่ต้องเดินทางในช่วงระยะเวลานี้ โดยเบื้องต้นเลื่อนไปเปิดในวันที่ 1 มิ.ย.64 นอกจากนี้ ยังเสนอด้วยว่าบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ คุณครู นักเรียน มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเหมือนกัน โดยเฉพาะครูควรได้รับวัคซีนด้วย เพราะครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนถึง 30-50 คนน่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งที่ประชุมได้ย้ำว่า ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขจะดูแลกลุ่มคุณครูด้วย และวัคซีนจะเข้ามาอีกในเดือน มิ.ย.นี้



'คลัง' ปรับลด'จีดีพี' พิษโควิดฉุดศก.ปีนี้ โตแค่2.3%



          น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึง ประมาณการเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวที่ ร้อยละ 2.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) ปรับตัวลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือนม.ค.64 ที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย          

          นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น

          โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ 2.ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4.ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

          อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

 



 

ข่าวทั้งหมด

X