เชียงใหม่ พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ติดเชื้อโควิด-19 จากคนในครอบครัว
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ณ วันที่ 27 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 57 คน ยอดติดเชื้อสะสม 3,359 คน รักษาหายแล้ว 1,315 คน และเสียชีวิต 2 ราย
นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 2 ราย ว่า
-รายแรก เป็นหญิงไทย อายุ 48 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคไทยรอยด์ มีอาการไข้ ปวดตัว เจ็บคอ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เข้ารักษาตัวในรพ.เอกชน ต่อมามีอาการทรุดลง จึงได้นำส่งตัวมายังโรคพยาบาลนครพิงค์ มีการช็อค และติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เมษายน
-รายที่สองเป็น ชายไทย อายุ 49 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน มีน้ำหนัก 116 กิโลกรัม เริ่มมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 24 เมษายน ได้รับเข้ารักษาและให้ยาทันที ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ จึงส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน
ทั้ง 2 ราย ติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว และเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมก่อนแล้ว จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่นำเชื้อมาแพร่สู่คนในครอบครัว ด้านการฉีดวัคซีนขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 20,000 คน สำหรับวัคซีนที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับจัดสรรในล็อตที่ 3 ที่ได้มาแล้ว นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรร เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ อสม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน
ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม หรือสามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564เป็นต้นไป และจะเริ่มทำการฉีดในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
ประชุมร่วมรัฐ-เอกชน บ่ายนี้ ไม่มีการหารือล็อกดาวน์
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวคิดในการล็อกดาวน์เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีนัดหารือกับภาคเอกชนช่วงบ่ายวันนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจการตัดสินใจของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่ส่วนตัวคิดว่าหากมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาก็ควรล็อกดาวน์ในบางพื้นที่หรือบางธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยง เพื่อลดการแพร่ระบาดรุนแรง
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีนัดหารือกับภาคเอกชนในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้มีการจัดการวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนมากที่สุดในเวลาที่รวดเร็ว โดยเป็นความเห็นร่วมกันของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
สำหรับแนวทางที่ภาคเอกชนจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ได้แก่
-การสนับสนุนพื้นที่ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้า ปั้มน้ำมันบางจาก เป็นต้น ส่วนกลุ่มคนงานในนิคมอุตสาหกรรมก็พร้อมที่จะจัดพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเดินทางของคนจำนวนมาก อีกทั้งในนิคมอุตสาหกรรมก็มีพยาบาลประจำอยู่แล้ว
-การสนับสนุนเรื่องบุคลากรที่จะฉีดวัคซีนของสถานบริการความงาม
-ปัญหาข้อติดขัดในการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชน
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอเคยมีข้อเสนอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเอง ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ต้องดูว่าจะมีการนำเข้าวัคซีนในรูปแบบใด ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา หลังจากนั้นจึงจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ แต่ต้องไม่กระทบต่อแผนจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป
ตำรวจ เปิดศูนย์ 191 ทั่วประเทศ รับแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. แถลงข่าวร่วมกับรอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ว่า ตำรวจ เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ช่วยรับแจ้งกรณีผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อแบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669 และ 1330 ของหน่วยงานทางการแพทย์ จึงได้หารือระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และศูนย์เอราวัณ จนได้ข้อสรุป พร้อมเปิดศูนย์ 191
มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะใช้ระบบ Government Big Data institute (GBDi) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) พัฒนาร่วมกัน เพื่อเป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19
ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หากมีผู้ป่วยโควิด -19 โทรไปยังศูนย์ 191 (ศูนย์ผ่านฟ้า บช.น.) เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลผู้แจ้งจากชุดคำถามกำหนดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บันทึกข้อมูลลงระบบ GBDi จากนั้น ระบบจะแจ้งไปยังศูนย์ 1668 และ 1669 ทันที มีการทดสอบระบบแล้วสามารถเชื่อมข้อมูลกันได้ดี หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะวิทยุสื่อสารไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการโทรกลับไปยังผู้แจ้ง สอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับการบริการหรือยัง หากยังจะช่วยประสานอย่างใกล้ชิด
สำหรับจังหวัดอื่นๆ นั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะประสานโดยตรงไปยังสาธารณสุขจังหวัด หรือหัวหน้าศูนย์ 1669 เพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย
พาสมา รักษาผู้ป่วยโควิด หมดแล้ว ‘หมอยง’ ขอให้ช่วยกันบริจาค
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ขอให้ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ไปร่วมบริจาคพลาสมา เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายอื่นๆ เนื่องจาก ขณะนี้พลาสมาจากผู้ที่หายป่วย ซึ่งเก็บไว้มากกว่า 200 ถุง ได้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 160 คน ภายในรอบเดือนเมษายนนี้ และขณะนี้หมดลงแล้ว แต่ยังมีผู้ป่วยที่รอการรักษาอยู่จำนวนมาก
ศ.นพ.ยง เปิดเผยว่า พลาสมาจากผู้ติดเชื้อที่หายป่วยแล้ว จะมีภูมิต้านทานสูง สามารถนำมาใช้รักษากลุ่มเสี่ยงสูงที่เริ่มมีอาการปอดบวม และมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ เท่ากับหรือน้อยกว่า 94% ทำให้การรักษาเริ่มแรกในช่วงที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสได้ จะลดการดำเนินโรคให้รุนแรงน้อยลง มีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
ศ.นพ.ยง ย้ำว่า ไม่ต้องเกรงว่าไวรัสจะกลายพันธุ์อย่างที่มีผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ให้ข่าว เพราะคนไข้ทุกคนอยู่ในโรงพยาบาล ไม่สามารถไปแพร่เชื้อให้ใครได้ แต่แพทย์ต้องการรักษาแต่เริ่มแรกในกลุ่มเสี่ยงสูง จึงมีความต้องการมาก จึงเชิญชวนผู้ที่หายป่วยแล้ว โดยเฉพาะผู้ชาย ติดต่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ผ่านช่องทาง Online จากนั้นทางศูนย์ฯ จะติดต่อให้มาตรวจวัดภูมิต้านทาน และรายละเอียดต่าง ๆ ตามกฎเกณฑ์การบริจาคพลาสมา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่รอคอยอยู่
แคนาดา มีผู้เสียชีวิตรายแรกที่เชื่อมโยงกับวัคซีนแอสตราเซเนกา
จังหวัดควิเบกของแคนาดา รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตรายแรกจากอาการลิ่มเลือดอุดตัน หลังการรับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ขณะที่มีผู้ป่วยอย่างน้อย 5 คน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงยืนยันว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์
นายฟร็องซัว เลอโกลต์ นายกรัฐมนตรีของควิเบก กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่าเขามีความเสียใจที่ได้รับทราบว่าผู้ป่วยหญิงอายุ 54 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรง เสียชีวิตแล้วเพราะการที่ได้รับวัคซีน
นายโฮราซิโอ อารูดา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขของควิเบก กล่าวว่าการรักษาช่วยชีวิตไม่ได้ผล ผู้ป่วยหญิงที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แต่เขาเตือนว่าการเสียชีวิตไม่เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนคำแนะนำให้ใช้วัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี
ขณะที่ นายคริสเตียน ดูบ รัฐมนตรีสาธารณสุขของควิเบก กล่าวว่า พลเมืองประมาณ 400,000 คนของจังหวัดได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้ว
แต่เมื่อรวมทั่วประเทศมีการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้วมากกว่า 1,100,00 โดส รวมถึงนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด
แคนาดากำลังเผชิญกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงจังหวัดออนแทริโอที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศที่เพิ่งเริ่มให้วัคซีนแอสตราเซเนกาแก่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนที่ควิเบกซึ่งมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาลดลง อนุญาตให้ใช้วัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
ชายชาวอเมริกัน พยายามฆ่า ผู้อพยพชาวจีน อาการยังโคม่า
ตำรวจนิวยอร์ก ควบคุมตัวนายจาร็อด พาวเวล ชายชาวนิวยอร์ก อายุ 49 ปี และถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายและพยายามฆ่า จากการกระทำที่ตำรวจระบุว่าเป็นการก่ออาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อผู้อพยพชาวจีน คือนายเหยา ผัน หม่า อายุ 61 ปี ซึ่งถูกนายพาวเวลทำร้ายร่างกายด้านหน้าอาคารที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างย่านอีสต์ฮาร์เล็มของแมนฮัตตันเมื่อวันที่ 23 เมษายน และนับเป็นเหตุทำร้ายครั้งล่าสุดต่อชาวอเมริกัน-เอเชียในสหรัฐฯ
โดยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายพาวเวล ได้ทำร้ายร่างกายนายหม่าที่กำลังเก็บกระป๋อง และเมื่อนายหม่า ล้มลง นายพาวเวล ก็เตะเข้าที่ศีรษะนายหม่าอีกหลายครั้ง ต่อมานายหม่าได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลฮาร์เล็ม ซึ่งจนถึงเมื่อวันอังคาร (27 เม.ย.) เขายังคงอยู่ในอาการโคม่า
สื่อในสหรัฐฯ รายงานว่า นายหม่าและภรรยาเดินทางมาสหรัฐฯเมื่อ 2 ปีที่แล้วและเป็นพ่อครัวที่ร้านทำขนม แต่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเก็บขวด และกระป๋องไปขาย
ในรายงานของศูนย์ศึกษาความเกลียดชังและแนวคิดรุนแรง จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่ซานเบอร์นาดิโน ระบุว่า การก่ออาชญากรรมต่อชาวอเมริกัน-เอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก (AAPI) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 145 ในปี 2563 และในปีนี้มีการก่ออาชญากรรมต่อชาวอเมริกัน-เอเชียเกิดขึ้นหลายครั้ง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือเมื่อเดือนมีนาคม ที่เมืองแอตแลนตา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายรวมถึงผู้หญิงเอเชีย 6 ราย ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการประณามชาวเอเชียว่าเป็นต้นตอของโรคโควิด-19 ซึ่งพบครั้งแรกในปี 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มักจะเรียกโควิด-19 ว่า "ไวรัสจีน" ซึ่งเป็นสำนวนที่ทำให้มีความรู้สึกต่อต้านเอเชียมากขึ้น