นางเบ็คกี้ ฟรานซิส ซีอีโอขององค์กรการกุศลด้านการศึกษา ชื่อว่า อีดูเคชัน เอ็นดาวเมนท์ ฟาวเดชัน(Education Endowment Foundation หรือ EEF) ของอังกฤษ เปิดเผยว่า การวิจัยของ EEF รวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 58 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียน 50,000 คนในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ชี้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ภาครัฐจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ มีผลกระทบต่อทักษะการสื่อสารและการเรียนภาษาของนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 4-5 ปี เสนอแนะให้โรงเรียนจัดหลักสูตรเสริมทักษะทางภาษาสำหรับเด็กนักเรียน เนื่องจากทักษะทางการพูดที่แย่ของนักเรียนชั้นเด็กเล็กอาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนของเด็กในระยะยาว
ทีมนักวิจัยระบุว่า การล็อกดาวน์ทำให้เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ทำตามมาตรการควบคุมโรคเช่น เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ได้พูดคุยแบบเจอหน้าเพื่อนๆและครูอาจารย์โดยตรง ทำให้เด็กๆนึกคำศัพท์ไม่ออก โดยเฉพาะคำศัพท์ที่ใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นการที่เด็กไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับปูย่าตายาย ทั้งไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ ทำให้เด็กเล็กไม่ได้พูดคุยและขาดทักษะการพูดสื่อสารโดยปริยาย
ด้านนางเอ็มมา คุณแม่ของเด็กนักเรียนคนหนึ่งจากโรงเรียนประถมศึกษาไฮเดอร์ เฮเยสในมืองวอลซอลล์ รู้สึกเป็นกังวลว่าลูกชายของเธอคือ ด.ช.แฮร์รีอาจจะไม่สามารถสื่อสารกับเพื่อนๆหรือครูได้อย่างคล่องแคล่ว เช่นบอกให้คนอื่นๆทราบความรู้สึกของตน เมื่อลูกของเธอกลับไปเข้าชั้นเรียนอีกครั้ง เธอหวั่นเกรงว่าลูกๆจะหลบมุมอยู่หลังห้องเรียน ไม่กล้าพูดคุยกับคนอื่นๆ จึงส่งลูกของเธอไปเรียนภาษาเพิ่มเติมที่สถาบันภาษาแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กมีความก้าวหน้าในการเรียนภาษาราว 3 เดือน ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกชายของเธอพูดคุยมากขึ้น รู้จักตั้งคำถาม คิดและถามคำถามต่างๆมากขึ้น
Cr: BBC, Nurseryworld