โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรฝ่ายบริหารของกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) เปิดเผยว่า กลุ่มอียู โดยความเห็นร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศได้ฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทแอสตราเซเนกา ผู้ผลิตวัคซีนจากอังกฤษ-สวีเดน ฐานทำผิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ทั้งไม่มีแผนการที่ชัดเจนว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้กับกลุ่มอียูตามกำหนดในข้อตกลงเมื่อใด นับเป็นการยกระดับความขัดแย้งให้สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง หลังจากทั้งสองฝ่ายมีปัญหาพิพาทกันมาหลายเดือนในเรื่องการส่งมอบวัคซีนล่าช้า
คดีนี้เริ่มต้นจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรปลงนามในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สั่งซื้อวัคซีน 300,000,000 โดสจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-บริษัทแอสตราเซเนกา พร้อมเงื่อนไขการสั่งซื้อเพิ่มอีก 100,000,000 โดส รวมเป็น 400,000,000 โดส แต่เมื่อต้นปีนี้ แอสตราเซเนกา ระบุว่าปริมาณวัคซีนที่บริษัทจะส่งมอบให้กับกลุ่มอียูจะถูกปรับลดลง เนื่องจาก บริษัทมีปัญหาด้านการผลิต จากเดิมที่ตั้งเป้าการส่งมอบ 80,000,000 โดส ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ปรากฏว่าบริษัทสามารถส่งมอบวัคซีนให้กับกลุ่มอียูเพียง 30,000,000 โดส
บางประเทศในกลุ่มอียู กล่าวหา บริษัทแอสตราเซเนกาว่า เอื้อประโยชน์ให้กับอังกฤษมากกว่ากลุ่มอียูในแง่ของลำดับความสำคัญเรื่องการส่งมอบวัคซีน แต่บริษัทแอสตราเซเนกา ปฏิเสธข้อครหานั้น พร้อมทั้งกล่าวถึงการที่อียูฟ้องคดีเพื่อเอาผิดกับบริษัทว่า ไร้สำนึกทางคุณธรรม เพิ่มเติมว่า บริษัทพร้อมจะสู้คดีในชั้นศาล
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ประกาศจะแบ่งปันวัคซีนจากแอสตราเซเนกาจำนวน 60,000,000 โดสกับประเทศอื่นๆ คาดว่าสหรัฐฯจะสามารถส่งออกวัคซีนดังกล่าวไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกทันทีที่สำนักงานอาหารและยา เสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาอนุมัติในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ในปัจจุบัน สหรัฐฯมีวัคซีนของแอสตราเซเนกาจำนวนมากอยู่ในคลังวัคซีน แม้ว่าจะยังไม่มีการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ด้านนักวิจารณ์หลายคน กล่าวหา สหรัฐฯว่ากักตุนวัคซีน ทำให้ประเทศอื่นๆรวมถึงอินเดียที่มีฐานะยากจนกว่าไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน
Cr: BBC, News24