ศปก.สธ.มีมติเสนอศบค.ปรับ 6 จังหวัดเป็นสีแดงเข้ม
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 64 พบว่า มีการกระจุกตัวอยู่ใน 6 จังหวัด รวมคิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อ คือ
-กรุงเทพฯ
-เชียงใหม่
-ชลบุรี
-นนทบุรี
-สมุทรปราการ
-ปทุมธานี
การกระจุกตัวของผู้ติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไม่เท่ากัน ดังนั้น มาตรการใน 6 จังหวัดนี้ก็จะมีมากกว่าจังหวัดอื่นๆ
การประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ซึ่งมีมติให้ยกระดับพื้นที่จังหวัดเป็น 3 ระดับและจะเสนอ ศบค.ต่อไป
-พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และชลบุรี
-พื้นที่ควบคุม สีส้ม มี 16 จังหวัด คือ แพร่ พะเยา นครพนม ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน พังงา สตูล น่าน ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
-พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง มี 55 จังหวัดที่เหลือ
สบส.ย้ำแล็บเอกชน พบติดเชื้อต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า กรณีประชาชนไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แล็บของโรงพยาบาลเอกชน หรือ คลินิกเอกชน ขณะนี้เรามีคลินิกตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 279 แห่ง เป็นของภาครัฐ 176 แห่ง ภาคเอกชน 103 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จำนวน 109 แห่ง
1. จะต้องเป็นคลินิกที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
2. ต้องให้คำแนะนำกับประชาชนก่อนตรวจทุกครั้ง
3. หากผลตรวจเป็นลบ คลินิกสามารถแจ้งประชาชนได้ทันที แต่หากผลเป็นบวกจะต้องแจ้งประชาชนพร้อมกับดำเนินการ ดังนี้
-แจ้งหน่วยควบคุมโรค ภายใน 3 ชั่วโมง
-แจ้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
-ประสานกับสถานพยาบาลที่มีเตียงตามที่มีข้อตกลงกันไว้
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะมี อสม.ไปเคาะประตูบ้านเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน และการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการสำรวจกลุ่มเสี่ยงหลังจากมีการเดินทางช่วงสงกรานต์ เพื่อรายงานผลกลับมา จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลด้วย
เชียงใหม่ ใช้ Bubble & Sealed ในเรือนจำ คาดคุมได้ใน 28 วัน
การใช้มาตรการคุมโควิด-19 ในเรือนจำกลาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ หลังจากที่พบผู้ต้องขังในกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับเข้าระหว่างวันที่ 7-12 เม.ย.64 ติดเชื้อและต่อมาพบการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในเรือนจำกลาง ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่ากลุ่มนี้น่าจะมีผู้ต้องขัง 1 คน นำเชื้อเข้าไปและทำให้เกิดการระบาดในระหว่างการกักตัว พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 146 คน แยกเป็นเจ้าหน้าที่ 2 คน และผู้ต้องขัง 144 คน
นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมประชุมกับทีมจังหวัดเชียงใหม่นำโดยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนจากเรือนจำกลางอำเภอแม่แตง ใช้มาตรการปิด หรือ Sealed แดนผู้ต้องขังรับใหม่ พร้อมยกระดับมาตรการต่าง ๆ ในเรือนจำ และจะทำการปิดในแต่ละแดนต่อไป ให้คงเหลือไว้เฉพาะเจ้าหน้าที่บางกลุ่มที่ผ่านการตรวจประเมินแล้วว่าไม่พบเชื้อจึงจะสามารถให้ทำงานได้ โดยเป็นไปตามมาตรการ Bubble & Sealed เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าสามารถจำกัดการระบาดเฉพาะในพื้นที่เรือนจำได้ไม่มีการแพร่เชื้อออกมาสู่ภายนอก
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ สั่งยกระดับใช้
1.มาตรการ Bubble & Sealed คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า
2.Separate การแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงออกจากผู้ต้องขังกลุ่มอื่น
3. Mobile Field Hospital การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเรือนจำ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการให้อยู่ในการควบคุมไม่แพร่เชื้อสู่ภายนอก
4.เร่ง Swab เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกเพิ่มเติมในผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงทุกราย คาดว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในระยะเวลา 28 วัน
CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ. เชียงใหม่
คลัสเตอร์ปฎิบัติธรรมติดเชื้อทั้ง 51 คน ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ไม่พบผู้ป่วย
ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลงเป็นวันที่ 2 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 78 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกเดือนเม.ย.64 จำนวน 3,302 คน เป็นผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลรัฐฯ โรงพยาบาลเอกชน และ Hospitel จำนวน 2,131 คน และรักษาหายแล้ว 1,171 คน
จากข้อมูลการออกคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดในวันนี้ ได้คัดกรองไปแล้ว 2,659 คน พบมีผู้ติดเชื้อ ร้อยละ 5.75 ซึ่งเมื่อพิจารณาความเสี่ยงการสัมผัสโรคพบว่าเกิดขึ้นในสถานบันเทิงลดลง แต่ในครอบครัวกลับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 18.6 ในชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.4 และในสถานที่ทำงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.4 ในส่วนของคลัสเตอร์ที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนของจังหวัดเชียงใหม่ไม่พบกลุ่มใหม่เกิดขึ้นมา
สำหรับการตรวจสอบคลัสเตอร์ศูนย์ปฏิบัติธรรม พบว่าผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด และระบาดไปยังครอบครัว รวมผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้ 51 คน ส่วนคลัสเตอร์ศูนย์เด็กเล็กฯ คลัสเตอร์งานศพที่อำเภออมก๋อย และคลัสเตอร์บริษัทขายตรง ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม
ตำรวจ สั่งหาคนปล่อยเฟคนิวส์ กล่าวหาจับคนไม่สวมแมสก์ขณะขับรถ
พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมี 48 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกประกาศให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ก่อนออกจากเคหสถาน หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามจะถือว่ามีความผิด
ส่วนการพิจารณาจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ดูที่เจตนาของประชาชนเป็นหลักเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมองว่าตำรวจรังแกประชาชน หรือฉวยโอกาสเรียกรับผลประโยชน์
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการจงใจหรือเจตนาฝ่าฝืน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ผู้บังคับการจังหวัดตั้งทีมกฎหมายให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติแล้ว
รอง ผบ.ตร. สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนดำเนินการสืบสวนหาผู้ที่ปล่อยข่าวปลอม (fake news) กรณี ตำรวจสภ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินคดีกับผู้ที่เดินในตลาดจงใจไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่กลับพบว่ามีการบิดเบือนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่จับกุมขณะขับรถ ซึ่งไม่เป็นความจริง และสร้างความเสียหายให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ! ผู้เสียหาย ถูกแอบถ่ายในรพ.สนาม เชียงใหม่ แจ้งความคนถ่าย-แชร์-เม้นต์
การแจ้งความดำเนินคดีให้เป็นคดีตัวอย่าง กรณีเมื่อวันที่ 12 เม.ย.64 ผู้ป่วยหญิงที่ถูกแอบถ่ายภาพขณะที่พักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
ผู้เสียหาย นักศึกษาหญิง อายุ 20 ปี พร้อมทนายความ นายวันชาติ นัยทรัพย์ แจ้งความที่ สภ.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ โดยระบุว่า ตอนนี้หายแล้วจึงเดินทางมาแจ้งความ หลังจากที่เพื่อนส่งข้อมูลว่า ภาพของตัวเองอยู่ในโซเซียล ทำให้ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งนำหลักฐานที่รวบรวมได้จากโซเชียลมีเดียมามอบให้พนักงานสอบสวน ซึ่งได้สอบปากคำผู้เสียหายเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนจะเรียกตัวผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แอบถ่ายภาพ และคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงคุกคามทางเพศและด่าทอ ทำให้ได้รับความเสียหายและอับอาย
นายวันชาติ ทนายความ กล่าวว่า เบื้องต้นจะแจ้งความในข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา, พ.ร.บ.ข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะดูอีกครั้งว่ามีการกระทำความผิดเข้าข่ายข้อหาใดบ้าง ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง เนื่องจากมีคนนำภาพไปแชร์จำนวนมาก จึงอยากให้เป็นเคสตัวอย่าง เพื่อให้สังคมตระหนัก เพราะผู้เสียหายอยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล กลับมาถูกละเมิดสิทธิจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง กรณีนี้สามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้จากผู้กระทำผิด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์ภาพต่อในแอปพลิเคชันต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ TikTok กว่า 30 ราย จึงอยากฝากเตือนไปยังสังคมว่าขอให้คิดก่อนแชร์