ติดโควิด-19 ในฟิลิปปินส์ ทะลุกว่าล้านคน
ทางการฟิลิปปินส์ แถลงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั้งประเทศ รวมกว่า 1,000,000 คน เนื่องจากกรุงมะนิลา เมืองหลวงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันในหลักพันติดต่อกันหลายวันและกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดครั้งใหม่
กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ ผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 8,929 คน ส่วนยอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 16,853 ราย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่ามกลางเสียงเตือนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในฟิลิปปินส์ที่ยังไม่อยากให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มในตอนนี้ หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ในกรุงมะนิลาและพื้นที่ 4 จังหวัดโดยรอบ ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.64
นายโรลันโด เอ็นริเก โดมิงโก ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยา หรือเอฟดีเอ ของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า โมเดอร์นา อิงค์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐฯยื่นเอกสารขออนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉินในฟิลิปปินส์แล้ว และในเดือน พ.ค. 64 ทางการฟิลิปปินส์จะได้รับวัคซีนของโมเดอร์นา 194,000 โดส และอีก 1,000,000 โดส ในเดือนก.ค.64
ฟิลิปปินส์ อนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นการฉุกเฉินทั้งหมด 6 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ของสหรัฐฯ จอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐฯ ซิโนแวกของจีน สปุตนิก-วี ของรัสเซีย แอสตราเซเนกาของอังกฤษ-สวีเดน และโควาซิน ของอินเดีย
ระบบสาธารณสุขหลายเมืองในอินเดียล่ม หลายประเทศเร่งส่งความช่วยเหลือ
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดของอินเดีย เมื่อวันจันทร์ 26 เม.ย.64 ทะลุ 350,000 คน ทำสถิติเคสรายวันสูงสุดของโลกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งรุนแรงไม่หยุด ทำให้ระบบสาธารณสุขในหลายเมืองล่ม ประชาชนไม่มีทางเลือกนอกจากพยายามดูแลสมาชิกครอบครัวที่ป่วยด้วยตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ปัญหาไม่ได้หยุดแค่ออกซิเจนหรือยา หากยังรวมถึงการตรวจเลือด การทำซีทีสแกน หรือเอ็กซเรย์ ซึ่งแต่ละรายการต้องเข้าคิวรอนานและกว่าจะรู้ผลใช้เวลาอีกหลายวัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถประเมินอาการและรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ผู้ป่วยหลายคนหาเตียงได้แล้วแต่ยังเข้ารักษาตัวไม่ได้เนื่องจากต้องรอผลตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อโควิด
แม้แต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางคนยังเสียชีวิตเนื่องจากขาดแคลนออกซิเจน โรงพยาบาลบางแห่งออกคำเตือนทุกวันว่า มีออกซิเจนพอใช้อีกไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่ รัฐบาลนอกจากแก้ปัญหาล่าช้าแล้ว บ่อยครั้งยังจัดส่งออกซิเจนให้โรงพยาบาลต่างๆ ในปริมาณที่ใช้ได้เพียงวันเดียว
ขณะเดียวกัน วิกฤตโรคระบาดที่เลวร้ายในอินเดียทำให้หลายประเทศกังวลและยื่นมือช่วยเหลือ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ แถลงว่า อังกฤษจะให้ความช่วยเหลืออินเดียอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และเช้าวันนี้ เครื่องบิน 9 ลำที่ขนอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจและเครื่องผลิตออกซิเจน จะเดินทางถึงอินเดีย
ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯจะเร่งส่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ ชุดตรวจโควิด และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้อินเดีย แต่ไม่ได้ระบุว่า จะรวมถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาหลายสิบล้านโดส ซึ่งสหรัฐฯเก็บเอาไว้โดยไม่ได้ใช้หรือไม่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย ทำให้ เอฟจีอี บริษัทที่ปรึกษาทางพลังงาน ประมาณการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันเบนซินของอินเดีย ชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก จะลดลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย.64 และอีกกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค .64
-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 23 เซ็นต์ ปิดที่ 61.91 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิ.ย. 64 ลดลง 46 เซ็นต์ ปิดที่ 65.65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
สหรัฐฯ เตรียมแจกวัคซีนให้ประเทศอื่นๆ
นายแอนดี สเลวิตต์ ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯจะแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาจำนวน 60,000,000 โดสให้ประเทศอื่น ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก
นายสเลวิตต์ ทวีตข้อความ ระบุว่า สหรัฐฯจะแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวกับประเทศอื่น เนื่องจาก สหรัฐฯเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอแล้ว โดยปริมาณวัคซีนเริ่มมีมากเกินความต้องการในบางภูมิภาค
ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 139 ล้านคน หรือร้อยละ 42.2 ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็มแล้ว ขณะที่ชาวอเมริกัน 94.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 28.5 ของประชากรทั้งหมด ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 เข็มแล้ว
ชาวอเมริกันเกินครึ่งเล็กน้อย พอใจการทำงานของ ‘ไบเดน’
ผลสำรวจของสำนักข่าว NBC จากการสำรวจชาวอเมริกัน 1,000 คนทั่วประเทศระหว่างวันที่ 17-20 เม.ย.64 ระบุว่า ชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งเล็กน้อยมีความพอใจต่อผลการทำงานของประธานาธิบดีไบเดน ในช่วง 100 วันแรก โดยส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 53 มีความพอใจในทำงาน ขณะที่ร้อยละ 39 ไม่พอใจ
ในกลุ่มที่พอใจต่อการทำงานของประธานาธิบดีไบเดน เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตร้อยละ 90 และพรรครีพับลิกันร้อยละ 9
ผลสำรวจ แสดงว่าชาวอเมริกันร้อยละ 46 มีความพอใจต่อมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ร้อยละ 25 ไม่พอใจ
นอกจากนี้ ชาวอเมริกันร้อยละ 59 สนับสนุนแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีไบเดน ขณะที่ร้อยละ 21 ไม่สนับสนุน
อะแลสกาแอร์ไลน์ส ไม่ให้ สว.รัฐอะแลสกา เดินทาง เหตุไม่สวมหน้ากาก
นายทิม ธอมป์สัน โฆษกสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์ส เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นแองคอเรจ เดลี่นิวส์ ว่าได้แจ้งให้วุฒิสมาชิกโลรา เรนโบลด์ แห่งรัฐอะแลสกา ทราบแล้วว่า เธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปกับสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์ส เพราะเธอปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่สายการบินที่เกี่ยวกับนโยบายการใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งคำสั่งห้ามจะมีผลบังคับใช้ในทันที
วุฒิสมาชิกเรนโบลด์ จากเมืองอีเกิล ริเวอร์ พรรครีพับลิกัน บอกว่าไม่ทราบเรื่องคำสั่งห้ามขึ้นเครื่องและยังหวังที่จะใช้บริการของอะแลสกาแอร์ไลน์สต่อไปในอนาคต
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ว่า เธอมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ของสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์สที่สนามบินนานาชาติจูโน รัฐอะแลสกา เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย
วุฒิสมาชิกเรนโบลด์ คัดค้านมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังไม่ยอมรับนโยบายของสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์สเรื่องหน้ากากอนามัย ซึ่งใช้เป็นคำสั่งปฏิบัติก่อนที่จะมีคำสั่งภาครัฐออกมาในปีนี้
เมื่อปีที่แล้ว เธอเคยอ้างว่าถูกพนักงานของสายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์สพูดให้ร้ายเรื่องหน้ากากอนามัย หลังจากที่เคยถูกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินร้องขอให้เธอสวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบินมาแล้ว หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไป เธอยังได้ส่งขนมเค้กไปให้พนักงานต้อนรับบางคน พร้อมระบุว่า ขอโทษด้วยถ้าเธอได้ฝ่าฝืนกฎ ทั้งนี้ สายการบินอะแลสกาแอร์ไลน์ส ได้สั่งแบนประชาชนไปแล้ว 500 คน ที่ไม่ปฎิบัติตามมาตรการ