ความเคลื่อนไหวเมืองไทย19.30 น.ประจำวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564
แอสตราเซเนกา ชื่นชมไทยผลิตวัคซีนได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากสหรัฐฯแล้ว
หลังประชุมร่วมกับผู้แทนจากบริษัทแอสตราเซเนกา เพื่อติดตามความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย ผ่านการตรวจสอบคุณภาพผลิตในต่างประเทศแล้ว อาทิ สก็อตแลนด์ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา ขณะที่ การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ สามารถทำได้ภายใน 5-6 เดือนจากเดิมที่ต้องใช้ประมาณ 24 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมากและนับเป็นความสามารถของผู้ผลิตซึ่งบริษัทได้ชื่นชมการผลิตของไทย
นายอนุทิน กล่าวว่า ยังได้เจรจาเรื่องสัดส่วนที่จะมีการนำวัคซีนแอสตราฯ ที่ผลิตในไทยส่งให้กับโครงการโคแวกซ์ และประเทศในอาเซียนว่า ประเทศไทยต้องได้รับความสำคัญในการจัดสรรให้มากที่สุดก่อน แต่จะไม่กระทบกับยอดสั่งซื้อวัคซีนที่จะนำไปฉีดเพื่อคนไทยอย่างแน่นอน และเพราะโรงงานผลิตตั้งอยู่ในประเทศไทยจึงสามารถลดขั้นตอนการขนส่งและจัดเก็บได้ โดยก่อนจะนำไปฉีดให้ประชาชนก็ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของทุกคน
นอกจากนี้บริษัท แอสตราเซเนกา ยังรับจะพิจารณาและจะหาทางช่วยในการจัดส่งวัคซีนให้ได้เร็วขึ้น จากสัญญาจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่ระบุว่าจะส่งให้ประเทศไทยในเดือน มิ.ย.
กรมวิทย์ฯรับรองแล็บตรวจหาเชื้อโควิด-19ย้ำ ต้องมีสถานพยาบาลรับส่งผู้ป่วย
การสร้างความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบศ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมสบศ.มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้เริ่มเคาะประตูบ้านเพื่อทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 การลงทะเบียนวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” การดูแลสุขภาพ และช่วงหลังสงกรานต์ ที่มีประชาชนที่กลับไปเยี่ยมบ้านและกลับมา ก็ให้ อสม.เข้าไปดูว่าผู้ที่อยู่ในบ้านมีอาการป่วยหรือไม่ หรือมีกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงขอฝากประชาชนให้ความร่วมมือให้ข้อมูล
ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในแล็บนอกสถานพยาบาล นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก จึงมีการสนับสนุนให้ภาคเอกชน คลินิกแล็บ พัฒนาการตรวจขึ้นมาโดยผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีทั้งสิ้น 279 แห่ง เป็นภาครัฐ 176 แห่ง เอกชน 103 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 109 แห่ง ส่วนใหม่เป็นภาคเอกชน ที่มีคลินิกแล็บใหญ่ๆ ถึง 14 แห่ง สำคัญที่สุดตามประกาศ คือ คลินิกแล็บจะต้องมีคู่สัญญากับสถานพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วย เพื่อเป็นหลักประกันเตียงให้ผู้ป่วย หรือ หากเตียงเต็มต้องประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย แต่ถ้ายังหาไม่ได้ต้องรายงานไปยังผู้อนุญาตแต่ละพื้นที่ทราบ ข้อมูลขณะนี้ พบว่าในคลินิกแล็บ 14 แห่ง มี 11 แห่ง ที่มีสถานพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญาแล้ว และที่เหลืออยู่ในระหว่างลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โดยประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ในเว็บไซต์ของ สบส.
นอกจากนั้น จากช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ได้รับร้องเรียนคลินิกแล็บโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ซึ่งได้รับการดำเนินการแล้ว 12 แห่ง ประเด็นหลัก คือ 1.การไม่ส่งต่อผู้ป่วยหลังตรวจพบเชื้อ 2.ไม่ส่งรายงานผู้ติดเชื้อไปยังกรมควบคุมโรค หรือกรมวิทยาศาสตร์ฯ และ 3.โฆษณาราคาค่าตรวจโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุง ระงับการกระทำดังกล่าว แต่หากฝ่าฝืนก็จะมีการพักใช้หรือยุติการตรวจโควิด-19 และระงับโฆษณาต่อไป เป็นการดำเนินการทางกฎหมายจริงจัง ทั้งโทษปรับและจำคุกต่อไป หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลหรือเรื่องร้องเรียน ก็สามารถแจ้งมาที่สายด่วน 1426
ปกปิดข้อมูลอีก รพ.วังทอง พิษณุโลกสั่งปิดตึกฉุกเฉิน
เพจโรงพยาบาลวังทอง จ.พิษณุโลก ได้โพสต์ข้อความด่วนระบุ ต้องปิดตึกฉุกเฉิน เร่งทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน พร้อมกับสั่งกักตัวแพทย์ 1 คน พยาบาล 5 คน หลังพบเคสหญิง ชาว อ.วังทอง เข้ารักษาตัวด้วยอาการ ไอ เหนื่อย หอบ และมีไข้ แต่ปกปิดข้อมูลกับทีมแพทย์ ตรวจเชื้อเบื้องต้นผลเป็นบวก ส่งรักษาต่อที่รพ.ประจำจังหวัด พร้อมติดป้ายห้ามเข้าตึกฉุกเฉินเตรียมทำความสะอาด
นพ.จักริน สมบูรณ์จันทร์ รักษาการ ผอ.รพ.วังทอง เปิดเผยว่า ผู้ป่วยเพศหญิง ไม่ยอมบอกเราว่ามาจากพื้นที่เสี่ยง จนกระทั่งมาเค้นสอบญาติ จึงทราบว่าผู้ป่วยรายนี้มีประวัติไปดูแลญาติที่มีผลบวก และกลับมาพิษณุโลกมาตรวจที่รพ.วังทอง วันนี้มีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อยมากขึ้น แต่ไม่ยอมบอกประวัติเราว่าญาติที่กรุงเทพที่ไปอยู่ด้วยเป็นผลบวกติดเชื้อ ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่เราถึงแม้จะมีการใส่ชุดป้องกันในระดับหนึ่ง แต่เราก็ไม่ได้สวมใส่ชุด PPE ที่ป้องกันได้ในระดับสูงไว้ตลอดเวลา ทำให้ทีมแพทย์ พยาบาล ที่เข้ามาดูแลเคสนี้ต้องถูกแยกกักตัวทันที และรพ.ต้องปิดห้องผู้ป่วยฉุกเฉินทันที เพื่อทำความสะอาดห้อง
ผู้ว่าฯระยองสั่งปิดเกาะเสม็ด 14 วัน สกัดแพร่ระบาด
สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จังหวัดระยอง ล่าสุด นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือกับผู้ประกอบการบนเกาะเสม็ด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่พบผู้ป่วย จึงสรุปว่า จะมีการปิดเกาะเสม็ด คือปิดโรงแรม รีสอร์ท ที่พักทั้งหมด เป็นเวลา 14 วัน เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.นี้ ส่วนชาวบ้านจะเปิดให้เดินทางขึ้นลงทางเดียว คือ ท่าเรือหน้าด่าน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบผู้ที่ผ่านเข้าออก
ส่วนนักท่องเที่ยวที่จองที่พักไว้ช่วงระยะวันเวลาที่มีการประกาศปิด ก็สามารถติดต่อสถานประกอบการที่จองไว้ เพื่อขอเลื่อน หรือ ยกเลิกจอง ก็สามารถรับเงินคืนได้ตามจริง จึงขอความร่วมมือ และเข้าใจต่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ส่วนมาตรการการเยียวยา ทางผู้ประกอบการเต็มใจที่จะให้ปิด 14 วัน โดยไม่ต้องการเยียวยา ส่วนพนักงานที่มีประกันสังคมก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม
นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง แถลงข่าว สถานการณ์โควิด-19 จ.ระยอง วันนี้พบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 21 คน สถานการณ์โควิด จ.ระยอง ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.64 พบผู้ป่วยติดเชื้อรวม 426 คน จากการตรวจค้นหาเชิงรุกไปแล้ว 14,010 คน
สำหรับผู้ป่วยที่พบขณะนี้มี 2 ระดับ คือ อาการไม่รุนแรง แต่ส่วนใหญ่พบมีอาการปอดอักเสบ แต่ก็ยังไม่รุนแรง ส่วนเตียงผู้ป่วยขณะนี้ยังมีเตียงเพียงพอต่อผู้ป่วย
กระเป๋ารถเมล์สาย 4 ติดเชื้อโควิด-19
คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 4 เพศชาย อายุ 37 ปี (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ ศูนย์กีฬาเวชศาสตร์สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้พนักงานอยู่ที่บ้าน เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม โรงแรมรอยัล คิงส์ จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 26 เม.ย. 2564
สำหรับไทม์ไลน์ของพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 4 หมายเลข 4 - 80349 ตั้งแต่เวลา 13.00-21.00 น.
-วันที่ 22 เม.ย. พนักงานมีอาการเวียนหัวและเจ็บคอ จึงเดินทางไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ ศูนย์กีฬาเวชศาสตร์สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง หลังการตรวจเสร็จสิ้น ได้เดินทางมาทำงาน โดยปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 4 หมายเลข 4 -80349 ตั้งแต่เวลา 13.00-21.00 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที
วันที่ 23 เม.ย. เวลา 10.00-11.00 น. พนักงานได้เดินทางไปรับประทานอาหารที่บ้านของญาติ บริเวณตลาดคลองเตย หลังจากนั้นได้เดินทางมาทำงาน โดยปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 4 หมายเลข 4 - 80349 ตั้งแต่เวลา 13.30-22.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที
วันที่ 24 เม.ย. เวลา 09.30-10.00 น. พนักงานได้เดินทางไปรับประทานอาหารที่บ้านของญาติ บริเวณตลาดคลองเตย ต่อมาเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงแจ้งหัวหน้างานเพื่อขออนุญาตกักตัวอยู่ที่บ้าน และรอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวในวันที่ 26 เม.ย.
วันที่ 25 เม.ย. 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน
วันที่ 26 เม.ย. 2564 รถพยาบาลมารับพนักงาน ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม โรงแรมรอยัล คิงส์ จังหวัดสมุทรปราการ
พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ ส่วนพนักงานขับรถโดยสาร จำนวน 1 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อได้ให้หยุดงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ยอดติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียแตะระดับ 3 แสน เป็นวันที่ 5
นับเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันที่อินเดียพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่า 300,000 คนในวันเดียว กระทรวงสาธารณสุขอินเดียเปิดเผยในวันนี้ว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 352,991คน ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อทะลุ 17 ล้านคน ขณะเดียวกันพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2,812ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 195,123 ราย
ด้านกรมอนามัยของกรุงเดลีระบุว่า เมืองเดลีซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,933 คนและพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 350 รายในรอบ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในกรุงเดลีแตะที่ 14,248 ราย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียได้ขยายคำสั่งล็อกดาวน์กรุงนิวเดลีอีกหนึ่งสัปดาห์ โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลถึงวันที่ 3 พ.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อินเดียเริ่มโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศไปแล้ว 141 ล้านคน นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มสถานที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) ระบุว่า มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แก่ประชาชนแล้ว 279 ล้านครั้ง
ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในญี่ปุ่นแตะหลักหมื่นแล้ว
ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับ 10,000 รายแล้วในขณะนี้ โดยญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 เนื่องจากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์มีอัตราการแพร่เชื้อสูงขึ้น การระบาดรอบใหม่ทำให้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว, เกียวโต, โอซาก้า และเฮียวโงะ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 เม.ย. จนถึงวันที่ 11 พ.ค.นี้ ยอดผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นแตะระดับ 8,000 รายเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ก่อนจะทะลุ 9,000 รายเมื่อวันที่ 26 มี.ค.หรืออีกสามสัปดาห์ต่อมา
ผลประกอบการดี ดึงหุ้นโตเกียวปิดบวก
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,559.53 จุด เพิ่มขึ้น 5.94 จุด มูลค่าการซื้อขาย 83,672.26 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยวันนี้รีบาวด์ได้ดีในช่วงบ่าย เป็นการปรับขึ้นในลักษณะกระจุกตัวในกลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มเหล็ก เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์ที่มาช่วยหนุนด้วย จึงมองเป็นการเกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์หลังจากที่ปรับลงไปมากเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
สำหรับหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีกที่มีแรงขายออกมาค่อนข้างมาก เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้น่าจะคงชะลอออกไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในการกลับมาใช้บริการ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้เนื่องจากไทยยังคงปิดประเทศอยู่
ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียวปิดบวกในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในญี่ปุ่นจะออกมาแข็งแกร่ง โดยบริษัทญี่ปุ่นเตรียมเปิดเผยผลประกอบการในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ดัชนีนิกเกอิปิดที่ 29,126.23 จุด เพิ่มขึ้น 105.60 จุด
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 27-28 เม.ย.นี้ ดัชนีฮั่งเส็งปิดที่ 28,952.83 จุด ลดลง 125.92 จุด
ผู้นำอินโดนีเซีย พร้อมชดเชยให้ครอบครัวเหยื่อเรือดำน้ำ
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของลูกเรือ 53 รายของเรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 ที่สูญหายและในเวลาต่อมามีการพบเศษซากบริเวณน่านน้ำนอกเกาะบาหลี ขณะนี้กองทัพอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับการกู้เศษซากเรือดำน้ำขึ้นจากบริเวณก้นทะเล ปธน.วิโดโดให้คำมั่นว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะรับผิดชอบค่าเล่าเรียนของบุตรของลูกเรือทุกราย และกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่กู้ภัยของอินโดนีเซียและต่างชาติที่ร่วมภารกิจค้นหาเรือดำน้ำดังกล่าว
กองทัพอินโดนีเซียประกาศยืนยันเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ว่า เรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 ซึ่งขาดการติดต่อไปเมื่อวันพุธที่แล้ว (21 เม.ย.) ถูกพบจมอยู่ก้นทะเลบาหลีโดยแตกออกเป็น 3 ส่วน และได้ระบุว่าลูกเรือ 53 รายเสียชีวิตทั้งหมด