ศูนย์เอราวัณ ปรับแผนการคัดกรอง เร่งนำส่งผู้ป่วยตกค้าง
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำส่งผู้ป่วยของศูนย์เอราวัณว่า ศูนย์เอราวัณ ดำเนินการนำส่งผู้ป่วยโควิด-19เข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยตกค้าง
-24 เม.ย.24 จำนวนผู้ป่วยตกค้างที่รอเข้าสู่ระบบการรักษา มีจำนวน 352 คน
-25 เม.ย.64 ผู้ป่วยเข้ามาเพิ่มอีก 217 คน นำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยกำลังของศูนย์เอราวัณและเครือข่ายจำนวน 347 คน คงเหลือผู้ป่วยตกค้างที่รอเข้าสู่ระบบการรักษาจำนวน 222 คน คาดว่า จะสามารถดำเนินการรับส่งผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษาทั้งหมดได้ภายในวันนี้
อย่างไรก็ดี หากมีผู้ป่วยเพิ่มเข้ามา ศูนย์เอราวัณ จะเร่งนำส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม โดยเร็วที่สุด
วันนี้ศูนย์เอราวัณจะปรับแผนการนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจาก จากการสอบถามข้อมูลและการคัดกรองอาการผู้ป่วยทางโทรศัพท์อาจคลาดเคลื่อน ทำให้นำส่งโรงพยาบาลไม่ตรงกับระดับการติดเชื้อ
เพื่อให้การนำส่งเป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ศูนย์เอราวัณ จะนำผู้ป่วยที่รอเข้าสู่ระบบรักษาไปทำการคัดกรองเชื้อโรค ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลสิรินทร เพื่อทำการคัดแยกผู้ป่วยว่าเป็นผู้ติดเชื้อระดับใด เป็นโควิดสีเขียว หรือสีเหลือง หรือสีแดง จากนั้นเมื่อทราบระดับการติดเชื้อ จะได้นำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามต่อไป
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอการนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษา ขอให้กักตัวอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางหรือออกไปทำกิจกรรมส่วนรวม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไปด้วย
เดือน พ.ค.ไทยได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อีก 1 ล้านเม็ด
ยาฟาวิพิราเวียร์ 2,000,000 เม็ดถึงไทยแล้ว เร่งกระจายส่งให้สถานพยาบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อคืนนี้ (วันที่ 26 เม.ย.64) เวลา 01.00 น. ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2,000,000 เม็ด ได้จัดส่งจากสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเที่ยวบิน NH 8545 ได้มาถึงประเทศไทย เรียบร้อยแล้ว
องค์การเภสัชกรรมจะได้เร่งกระจายจัดส่งให้สถานพยาบาลเครือข่ายต่างๆ ตามการจัดสรรของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ทันที
ภายในเดือน พ.ค.64 จะมีการจัดส่งมาเพิ่มอีกจำนวน 1,000,000 เม็ด รวมเป็น 3,000,000 เม็ด ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้
พร้อมกันนั้นได้ให้องค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาเพิ่มอีก 2,000,000-3,000,000 เม็ด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ามียาเพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดในการทำเรื่องสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เวลาทำซีแอลยา จะมีผลกระทบภายหลัง อยู่ดีๆ ไปยึดลิขสิทธิ์เขามา แล้วต่อไปจะมีใครเขามาลงทุนในประเทศ เราต้องพยายามหาวิธีทางเจรจา เช่น ให้มาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ หรือการซื้อลิขสิทธิ์ จากอินเดีย จีน เป็นต้น ตอนนี้มีแนวคิดอยู่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้องค์การเภสัชกรรม ยังมีแหล่งที่สามารถจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากหลายแหล่ง และมีสารตั้งต้นอยู่ นี่คือความมั่นคงที่ทำให้มั่นใจว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะไม่ขาดตลาด และสามารถหามาให้คนไทยได้
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ทุกวันนี้เรามีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณวันละ 20,000 เม็ด จากที่มีสต๊อกอยู่ 600,000 เม็ด ก็จัดหาเพิ่มมาเป็น 2,000,000 เม็ด จากนี้จะมีการจัดทำแบบโรลลิ่งหรือให้ยามีการหมุนเวียนระบบ 2,000,000 เม็ด ทุกเดือนๆ เอาไว้ก่อน แต่หวังว่าจะไม่ต้องอยู่ในระดับนี้นาน ประมาณ 2-3 เดือน ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม
กทม.แจงนั่งในรถคนเดียว อนุโลมไม่ต้องสวมหน้ากาก
การจับและปรับผู้ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ฝ่ายกฎหมาย กรุงเทพมหานคร(กทม.) ชี้แจงว่า เจตนาในการประกาศคือการป้องกันการติดต่อของโรคจากบุคคลไปสู่บุคคลดังนั้นเมื่อมีบุคคลอื่นอยู่ในรถด้วยจึงต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าไม่ยกเว้นแม้เป็นครอบครัวเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กรณีนั่งคนเดียวจึงอนุโลมได้ว่าไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ส่วนการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในอาคารหรือที่ต่างๆ จะต้องสวมหน้ากากอนามัย สำหรับในที่สาธารณะต้องใส่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรือไม่เพราะบุคคลอื่นอาจมาใช้สถานที่นั้นต่อ
บีทีเอส จ่อฟ้องศาลปกครองสั่ง กทม.ชำระหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แถลงชี้แจงความคืบหน้า ในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังทวงถามหนี้จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท แล้วยังไม่มีความชัดเจน
โดยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 บริษัทได้ทำหนังสือติดตามทวงหนี้ไปยังบริษัทกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว แบ่งเป็น
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2560 (ช่วงเปิดเดินรถส่วนต่อขยายไปสำโรง) จำนวนกว่า 10,900 ล้านบาท
2.ค่าติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า จำนวนกว่า 20,700 ล้านบาท
ซึ่งหนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระหนี้ 60 วันแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากทั้งสองหน่วยงานว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ บริษัทบีทีเอสซี ได้เผยแพร่คลิปบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบเรื่องราวความเป็นมาและผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้โดยสารด้วย ดังนั้น ทางบริษัทบีทีเอสซี จึงจะใช้สิทธิตามกฎหมายตามที่ระบุไว้ในสัญญา ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งให้บริษัทกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร ชำระหนี้ให้กับบีทีเอสซี พร้อมยืนยันว่า การใช้สิทธิทางกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินงานของบีทีเอสซีในอนาคต จะพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน
นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าว ทราบว่า สภากรุงเทพมหานคร ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 หารือเกี่ยวกับการของบประมาณของกรุงเทพมหานคร มาชำระหนี้ดังกล่าว แต่ที่ประชุมไม่อนุมัติ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีภาระทางการเงินมากมาย ไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้ชำระหนี้ได้ แต่เสนอแนะให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ของบสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหาเอกชนมาร่วมลงทุน แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจน โดยหนี้ทั้งหมด หากยังไม่ชำระจนถึงครบสัญญาสัมปทานปี 2572 โดยใช้สมมติฐานเก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท ในส่วนต่อขยายเดิม และให้บริการฟรีในส่วนต่อขยายใหม่ ตัวเลขหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 90,000 กว่าล้านบาท
ที่ผ่านมา บริษัทบีทีเอสซี ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก เป็นระยะเวลานานถึง 4 ปี อีกทั้งบริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามทวงหนี้และใช้สิทธิตามกฎหมาย พร้อมยืนยันว่า ไม่ประสงค์จะนำหนี้ค้างชำระมาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือนำมาเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
กรณีที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงคมนาคม ทำผลการศึกษา ระบุว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส สามารถปรับลดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท หรือไม่เกิน 50 บาท นายสุรพงษ์ ระบุว่า ตัวเลขที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและกระทรวงคมนาคมนำมาเป็นสมมติฐานในการคำนวนค่าโดยสาร ยังมีความคลาดเคลื่อนหลายเรื่อง เช่น ไม่ได้นำตัวเลขค่าใช้จ่ายจากปัจจุบันจนถึงครบสัญญาสัมปทานปี 2572 มาใช้คำนวน,ตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการที่อ้างอิงตัวเลขหลักล้าน แต่ความจริงนั้นมีผู้ใช้บริการต่อวันไม่ถึง 800,000 คน ซึ่งจากการคำนวนของบริษัทบีทีเอสซี พบว่า ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารสูงสุดที่ 59 บาท ก็ยังขาดทุนปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท หากเก็บค่าโดยสาร 50 บาท หรือ 25 บาท ก็ย่อมมีตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ประชาชนอยากขอคืนเที่ยวโดยสาร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ซึ่งหลายคนต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home ทำให้ไม่ได้ใช้เที่ยวโดยสารที่ซื้อไปแล้ว ทางบริษัทยินดีนำข้อเสนอของประชาชนไปพิจารณา แต่ปกติแล้ว การจะคืนเที่ยวโดยสารให้ประชาชน จะมีเงื่อนไขคือ ในกรณีรถไฟฟ้าขัดข้องเกิน 30 นาที หรือมีเหตุไม่สามารถเดินรถได้ แต่ในขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงจะขอรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาและจะมีคำตอบให้ประชาชนเร็วๆนี้
ชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบ เดินทางไปเที่ยวยุโรป หน้าร้อนนี้ได้
นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า ชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบแล้วสามารถจะไปเที่ยวยุโรปได้ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ (หรือระหว่างเดือนมิ.ย.ถึง ส.ค.64) ระบุว่า เท่าที่ทราบ ชาวอเมริกันจำนวนมากเข้ารับการฉีดวัคซีนต่างๆที่อนุมัติโดยสำนักงานควบคุมยาแห่งยุโรป เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป(อียู)
ด้านนายแอนดี สลาวิตต์ ที่ปรึกษาด้านโควิด-19 ของทำเนียบขาว สหรัฐฯ กล่าวถึงการแสดงความเห็นเรื่องนี้ของนางฟอน แดร์ ไลเอิน ว่า แสดงถึงความเชื่อมั่นในโครงการวัคซีนของสหรัฐฯว่าโครงการวัคซีนของสหรัฐฯในขณะนี้ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯลดลงจากเดิม ต่างจาก 3-4 เดือนก่อน ช่วงนั้น สหรัฐฯแทบจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ถูกนานาชาติขึ้นบัญชีดำ ห้ามชาวอเมริกันเข้าประเทศ หวั่นเกรงชาวอเมริกันจะนำเชื้อโรคโควิด-19 ไปแพร่ระบาดให้คนท้องถิ่น การที่ชาวอเมริกันสามารถเดินทางไปยังกลุ่มอียูได้อีกครั้งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเสรีภาพการเดินทางที่ชาวอเมริกันได้รับคืนมาเฉพาะสำหรับชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว
คำว่า ฉีดวัคซีนครบตามคำนิยามของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค(CDC)ของสหรัฐฯ หมายถึง การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในกรณีฉีดวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ หรือบริษัทโมเดอร์นา หรือฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวในกรณีฉีดวัคซีนจากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ในปัจจุบัน ชาวอเมริกัน 95,000,000 คน หรือร้อยละ 28.5 ของประชากรทั้งหมด ฉีดวีคซีนครบแล้ว ขณะที่อีก 140,000,000 คน หรือร้อยละ 42.2 ฉีดวัคซีนแล้วหนึ่งเข็ม
โคลอี้ จ้าว ผู้กำกับหญิงจีน-อเมริกันคว้าออสการ์ 2021 จาก 'Nomadland'
ผลการประกาศรางวัล ‘ออสการ์’ ครั้งที่ 93 ประจำปี 2021 ในยุคนิวนอร์มอล กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นความยินดีของชาวเอเชีย เมื่อ "โคลอี้ จ้าว" ผู้กำกับสัญชาติจีน-อเมริกัน คว้ารางวัล "ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" ไปครองจากภาพยนตร์เรื่อง "Nomadland" พร้อมสร้างประวัติศาสตร์ "ผู้กำกับหญิงเชื้อสายเอเชียคนแรก" ที่ได้รับรางวัลนี้
โคลอี้ จ้าว ยังเป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 2 ต่อจาก "แคทรีน บิกกาโลว์" ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขา "ผู้กำกับยอดเยี่ยม" นั่นเท่ากับว่าในประวัติศาสตร์ 93 ปีของออสการ์ มีผู้หญิงได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองเพียงแค่ 2 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
นอกจากนั้น ภาพยนตร์ เรื่อง Nomadland ยังคว้ารางวัล ออสการ์ 2021 สูงสุดในปีนี้ เพราะได้รับทั้ง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ฟรานเซส แมคดอร์มานด์)
สำหรับรางวัลอื่น ๆที่น่าสนใจ
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ตกเป็นของ "แอนโทนี ฮอปกินส์" จาก The Father
-นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม แดเนียล คาลูยา จาก Judas and the Black Messiah เขาเคยเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาแล้วครั้งหนึ่งจากเรื่อง Get Out ในปี 2018
-นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เป็นนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ คือ ‘ยุนยอจอง’ จาก Minari นับเป็นนักแสดงเกาหลีคนแรกที่ชนะออสการ์สาขาการแสดง และเป็นนักแสดงหญิงเชื้อสายเอเชียคนที่สองที่ชนะสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ต่อจาก มิโยชิ อุเมกิ จาก Sayonara ในปี 1957 และสร้างประวัติศาสตร์ให้เกาหลีใต้อีกครั้ง เพราะเมื่อปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Parasite สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม