นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แถลงชี้แจงความคืบหน้า ในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังทวงถามหนี้จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาทแล้วยังไม่มีความชัดเจน
โดยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 บริษัทได้ทำหนังสือติดตามทวงหนี้ไปยังบริษัทกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว แบ่งเป็น
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2560 (ช่วงเปิดเดินรถส่วนต่อขยายไปสำโรง) จำนวนกว่า 10,900 ล้านบาท
2.ค่าติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า จำนวนกว่า 20,700 ล้านบาท
ซึ่งหนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระหนี้ 60 วันแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากทั้งสองหน่วยงานว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ บริษัทบีทีเอสซี ได้เผยแพร่คลิปบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบเรื่องราวความเป็นมาและผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้โดยสารด้วย ดังนั้น บริษัทบีทีเอสซี จึงจะใช้สิทธิตามกฎหมายตามที่ระบุไว้ในสัญญา ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งให้บริษัทกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร ชำระหนี้ให้กับบีทีเอสซี พร้อมยืนยันว่า การใช้สิทธิทางกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินงานของบีทีเอสซีในอนาคต จะพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน
นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าว ทราบว่า สภากรุงเทพมหานคร ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 หารือเกี่ยวกับการของบประมาณของกรุงเทพมหานคร มาชำระหนี้ดังกล่าว แต่ที่ประชุมไม่อนุมัติ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีภาระทางการเงินมากมาย ไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้ชำระหนี้ได้ แต่เสนอแนะให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ของบสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหาเอกชนมาร่วมลงทุน แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจน โดยหนี้ทั้งหมด หากยังไม่ชำระจนถึงครบสัญญาสัมปทานปี 2572 โดยใช้สมมติฐานเก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท ในส่วนต่อขยายเดิม และให้บริการฟรีในส่วนต่อขยายใหม่ ตัวเลขหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 90,000 กว่าล้านบาท
ที่ผ่านมา บริษัทบีทีเอสซี ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก เป็นระยะเวลานานถึง 4 ปี อีกทั้งบริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามทวงหนี้และใช้สิทธิตามกฎหมาย พร้อมยืนยันว่า ไม่ประสงค์จะนำหนี้ค้างชำระมาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือนำมาเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงคมนาคม ทำผลการศึกษา ระบุว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส สามารถปรับลดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท หรือไม่เกิน 50 บาท นั้น นายสุรพงษ์ ระบุว่า ตัวเลขที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและกระทรวงคมนาคมนำมาเป็นสมมติฐานในการคำนวนค่าโดยสาร ยังมีความคลาดเคลื่อนหลายเรื่อง เช่น ไม่ได้นำตัวเลขค่าใช้จ่ายจากปัจจุบันจนถึงครบสัญญาสัมปทานปี 2572 มาใช้คำนวน,ตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการที่อ้างอิงตัวเลขหลักล้าน แต่ความจริงนั้นมีผู้ใช้บริการต่อวันไม่ถึง 800,000 คน ซึ่งจากการคำนวนของบริษัทบีทีเอสซี พบว่า ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารสูงสุดที่ 59 บาท ก็ยังขาดทุนปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท หากเก็บค่าโดยสาร 50 บาท หรือ 25 บาท ก็ย่อมมีตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีที่ประชาชนอยากขอคืนเที่ยวโดยสาร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ซึ่งหลายคนต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home ทำให้ไม่ได้ใช้เที่ยวโดยสารที่ซื้อไปแล้ว บริษัทยินดีนำข้อเสนอของประชาชนไปพิจารณา แต่ปกติแล้ว การจะคืนเที่ยวโดยสารให้ประชาชน จะมีเงื่อนไขคือ ในกรณีรถไฟฟ้าขัดข้องเกิน 30 นาที หรือมีเหตุไม่สามารถเดินรถได้ แต่ในขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงจะขอรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาและจะมีคำตอบให้ประชาชนเร็วๆนี้